เปิดสังเวียนเครือข่ายมือถือไทย (ก่อนเข้า) สู่ยุค5G

อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยมีแนวโน้มการแข่งขันดุเดือด โดยผู้ให้บริการรายใหญ่มุ่งขยายโครงข่าย 4G พร้อมเสนอแพ็จเกจดาต้าที่ดึงดูดใจ จนทำให้การใช้บริการดาต้าพุ่งขึ้น 6 เท่าตัว โดย TRUE คว้าแชมป์ครือข่าย 4G ดีที่สุดในไทย ก่อนเข้าสู่ยุค 5G ในอีก 2 ปีข้างหน้า

คนไทยโทรน้อยลง-ใช้เน็ตเพิ่ม 6 เท่า

จากรายงานการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2560 โดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่าคนไทยมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนกว่า 121.53 ล้านเลขหมาย โดยกลุ่มบริษัท AIS มีผู้ใช้งานมากที่สุดจำนวน 53.05 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 43.65% จากส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทย รองลงมาคือ กลุ่มบริษัท TRUE จำนวน 36.05 ล้านเลขหมาย, กลุ่มบริษัท DTAC จำนวน 30 ล้านเลขหมาย, CAT จำนวน 2.32 ล้านเลขหมาย และ TOT จำนวน 0.11 ล้านเลขหมาย

ขณะเดียวกันปริมาณการใช้บริการเสียงของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หลัก 3 ราย คือ AIS TRUE และ DTAC โดยภาพรวมพบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2560 มีปริมาณการใช้งานบริการเสียงจำนวน 43,460.84 ล้านนาที ลดลงจากเมื่อปี 2559 ที่มีการใช้งาน 51,021.48 ล้านนาที ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี โดยที่ AIS มีปริมาณการใช้บริการเสียงมากที่สุด 20,495.19 ล้านนาที ทั้งนี้ในปี 2560 คนไทยใช้บริการเสียงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ย 2 นาทีต่อคนต่อวัน ลดลงจากปี 2557 ซึ่งเฉลี่ย 4 นาทีต่อคนต่อวัน

แต่กลับกัน ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (การใช้บริการดาต้า) ของผู้ให้บริการหลัก 3 ราย มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปี 2560 มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงถึง 3,294,325,000 กิกะไบต์ หรือทะลุ 3 ล้านเทราไบต์ เฉลี่ย 0.14 กิกะไบต์ (140 เมกะไบต์) ต่อคนต่อวัน เติบโตขึ้นจากปี 2557 กว่า 6 เท่าตัว นับว่าเป็นการเติบโตที่สูงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดย AIS มีปริมาณการใช้บริการดาต้าสูงที่สุด 1,474.082 ล้านกิกะไบต์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ We Are Social ดิจิทัลเอเจนซี่ และ Hootsuite ผู้ให้บริการระบบจัดการโซเชียลมีเดียและมาร์เกตติ้งโซลูชั่นที่ระบุว่า ประเทศไทยใช้เวลาท่องอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนต่อวันมากที่สุดในโลกเฉลี่ย 4 ชม. 56 นาที

ทิศทางของผู้ให้บริการมือถือ

ขณะที่ AIS ได้เปิดเผยถึงผลประกอบการในปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายได้ก่อนหักภาษีดอกเบี้ยและค่าเสื่อม (EBITDA) 70,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากการเติบโตของรายได้ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 6.7 กิกะไบต์ต่อเดือน โดยมาจากการรับชมวิดีโอผ่านมือถือได้รับความนิยมอย่างสูง อีกทั้งยังมีผู้ใช้งาน 4G คิดเป็นสัดส่วน 46% ของฐานลูกค้าทั้งหมด รวมถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ที่ได้ขยายบริการครอบคลุม 50 จังหวัด ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 521,200 ราย อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปรับตัวลง 1.9% อยู่ที่ 30,077 ล้านบาท เนื่องจากมีการลงทุนโครงข่าย 4G ต่อเนื่อง และค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ โดยสามารถจ่ายเงินปันผล รอบครึ่งปีหลัง 3.57 บาทต่อหุ้น

สำหรับปี 2561 AIS ได้ผนวกเอาธุรกิจของซีเอส ล็อกอินโฟร์ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง พร้อมรองรับการเติบโตในตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร คาดว่าการเติบโตของรายได้จากการให้บริการที่ 7-8% โดยตั้งเป้าอัตรากำไร EBITDA ที่ 45-47% พร้อมวางงบลงทุนมูลค่า 35,000–38,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคุณภาพและเสริมประสิทธิภาพโครงข่ายเพื่อรองรับการใช้งาน 4G ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งขยายบริการอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จึงมีการปรับโฉม เอไอเอส ช็อป ให้กลายเป็น AIS The Digital Gallery รวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่แบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ด้าน TRUE มีรายได้ EBITDA ปี 2560 อยู่ที่ 39,912 ล้านบาท พุ่งสูงถึง 59% เป็นประวัติการณ์ของบริษัท ทำให้มีกำไรสุทธิ 2,323 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทรูมูฟ เอช เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่มีฐานลูกค้าเติบโต โดยมีผู้ใช้บริการรายใหม่จำนวน 2.7 ล้านราย ด้วยจุดแข็งด้านเครือข่าย 4.5G/4G ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 3.85 แสนราย จนมีผู้ใช้งานรวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านราย และทรูวิชั่นส์ ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครสมาชิกรวมกว่า 4.0 ล้านราย โดยสามารถจ่ายเงินปันผลจำนวน 0.031 บาทต่อหุ้น

โดยในปี 2561 TRUE ตั้งเป้ารายได้จากการให้บริการโดยรวมเติบโตในอัตราเลขสองหลักช่วงต้น โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนที่เป็นเงินสดใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ใช้งบลงทุนทั้งสิ้น 4.76 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต

และ DTAC มีรายได้ EBITDA ปี 2560 จำนวน 30,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้นที่ 9.1% และมีกำไรสุทธิ 2,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% โดยผลการดำเนินงานในภาพรวม ผู้ใช้บริการแบบเติมเงินลดลง จากการเปลี่ยนไปใช้รายเดือนมากขึ้น ทำให้ค่าบริการลูกค้ารายเดือนเติบโตดีขึ้น อีกทั้งในไตรมาสที่ 3/2560 มีการเปิดตัวบริการใหม่ LINE Mobile ซิมโทรศัพท์มือถือรูปแบบดิจิทัล รวมทั้งมีสัดส่วนผู้ใช้งานบนโครงข่าย 2.1 GHz เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ปริมาณผู้ใช้บริการ 4G เพิ่มขึ้นเป็น 7.9 ล้านเลขหมาย และมีจำนวนเครื่องที่รองรับ 4G ในระบบเพิ่มขึ้นเป็น 11.4 ล้านเลขใหม่ อันเป็นผลมาจากราคาสมาร์ทโฟน 4G ที่ถูกลง

ขณะที่ปี 2561 คาดว่ารายได้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ได้ตั้งงบลงทุนเอาไว้จำนวน 70,000 ล้านบาท จากที่ไม่ได้ใช้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในครั้งที่ผ่านมา ขณะเดียวกันได้ทยอยลงทุนสร้างเครือข่ายปีละ 20,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2559 – 2561 เพื่อขยายการให้บริการ อีกทั้งยังมีการสร้างเสาสัญญาณเพิ่มขึ้น 4,000-5,000 เสา ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นปีนี้มีเสาทั้งหมด 25,000 เสา เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงข่าย ส่วนกรณีอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz และคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย. นี้ และคาดว่า กสทช. จะเปิดการประมูลภายในปีนี้ DTAC พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล เพื่อนำมาขยายการให้บริการ นอกจากนี้ ยังได้จัดหาคลื่นความถี่เข้ามาใหม่

โดยล่าสุด TOT กับ DTAC ได้ร่วมกันนำคลื่นใหม่ 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นมีขนาด 60 MHz และขนาดกว้างที่สุด สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด มาเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD ในไทยเป็นครั้งแรก ด้วยเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) ที่มีการใช้งานคลื่นความถี่แบนด์เดียวทั้งรับและส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน จึงทำให้เพิ่มศักยภาพการรองรับรูปแบบการใช้งานดาต้าได้เป็นอย่างดี และกำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ นับเป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก เนื่องจากรายงานของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA Intelligence) ระบุว่า การขยายโครงข่าย LTE-TDD ของผู้ประกอบการทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 TDD จะมีสัดส่วนถึง 22%

เปิดโผเครือข่าย 4G ดีที่สุดในไทย

ขณะที่ OpenSignal ผู้วิจัยด้านโทรคมนาคมระดับโลก เผยผลสำรวจการใช้งานของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในไทย โดยพบว่าการค้นหาสัญญาณ 4G ในประเทศไทยแทบไม่ค่อยพบปัญหา แต่การเชื่อมต่อ 4G อันรวดเร็วนั้นก็ยังคงพบได้ยากอยู่ อีกทั้ง การให้บริการ LTE ของผู้ให้บริการทั้ง TrueMove AIS และ DTAC มีความเร็วต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเครือข่ายมือถือทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 16.9 Mbps โดยที่ TrueMove มีความเร็ว 4G ด้วยอัตราการดาวน์โหลด LTE เร็วที่สุดในไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 11.6 Mbps รวมทั้งยังมีอัตราความเร็วการดาวน์โหลดโดยรวม (ซึ่งวัดจากเครือข่าย 3G และ 4G รวมถึง ความพร้อมให้บริการของเทคโนโลยีเครือข่าย) อยู่ที่ 9.68 Mbps

สำหรับความพร้อมในการให้บริการ ซึ่งวัดจากผู้ใช้แต่ละเครือข่ายสามารถเชื่อมต่อ 4G ได้บ่อยครั้ง แทนการวัดความครอบคลุมของพื้นที่หรือประชากร พบว่า TrueMove ยังสามารถครองแชมป์ได้เช่นกัน ด้วยการตรวจพบสัญญาณเครือข่าย LTE ถึง 94.71% จากการค้นหาทั้งหมด รองลงมาอันดับ 2 คือ AIS 89.22% ส่วน DTAC เป็นเครือข่ายที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงที่สุดที่ 9% ทำให้คะแนนพุ่งมาที่ 84% แต่ยังคงรั้งท้ายอยู่ ส่วนเวลาแฝง 4G หรือการล่าช้าของข้อมูลที่วิ่งไปและกลับผ่านเครือข่าย ซึ่งคะแนนที่น้อยบ่งชี้ถึงการตอบสนองรวดเร็วกว่า อันดับ 1 ก็ยังตกเป็นของ TrueMove อยู่ที่ 33.89 ms

อีก 2 ปีไทยจะมี 5G ใช้จริงหรือ

5G หรือเทคโนโลยีรุ่นที่ 5 (5th Gene- ration) ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกได้เตรียมใช้ 5G ภายในปี 2563 อย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกาวางไทม์ไลน์ไว้ในปี 2562 ส่วนญี่ปุ่นเล็งใช้ โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ในการให้บริการอย่างเป็นทางการ ขณะที่ไทยได้ระบุเรื่อง 5G ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ในหมวดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์

คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงการเข้ามาของ 5G ที่จะเกิดขึ้นในโลกในอีก 2-3 ปีข้างหน้าว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากเป็นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสมาร์ทโฟน มีความเร็วสูงสุดมากกว่า 4G ถึง 100 เท่าแล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์บริการและการใช้งานในรูปแบบใหม่ เช่น IOT (Internet Of Things) ที่อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อสิ่งของให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้, AI (Artificial Intelligence), เทคโนโลยีการจำลองสภาพแวดล้อมให้มีความเสมือนจริง (VR) และเทคโนโลยีการรวมสภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือนเข้าด้วยกัน (AR) หากเทคโนโลยีนี้มีการนำใช้ในไทยจะทำให้โทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสาร ไปจนถึงองค์กร หรือแม้แต่การบริหารงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวถึงแนวโน้มที่ผู้ให้บริการมือถือในไทยจะลงทุนเทคโนโลยี 5G ว่า น่าจะอยู่ในช่วงระยะที่สอง หลังจากในสหรัฐฯ ยุโรป จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้ดำเนินการแล้ว เพื่อให้เกิดตัวอย่างจากประเทศที่เอาเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ได้อย่างชัดเจนก่อน เนื่องจากผู้ให้บริการไทยต้องมีการลงทุนสูง เพื่อนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการ

ส่วน คุณเฉียง หัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ได้คาดการณ์ว่า ไทยจะมีความพร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2565 ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ เพราะ 5G ต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูงและ 5G ไม่ใช่แค่คลื่นความถี่ หากรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อว่าจะสามารถเอาเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์ได้

ทั้งหมดเป็นการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทย ที่นับวันยิ่งจะพัฒนามากขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยน แต่ขณะเดียวกันสิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้งานหวังอย่างยิ่งคือการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ทั้งในแง่ของสัญญาณที่ครอบคลุม และมีความเสถียร ซึ่งจะช่วยให้การติดต่อเป็นไปอย่างราบรื่น จนถึงผลักดันเศรษฐกิจที่มุ่งหน้าสู่ออนไลน์ และคงต้องติดตามความชัดเจนว่าเทคโนโลยี 5G จะนำมาใช้ในไทยเมื่อไร

[English]

Competition among Thailand’s Mobile Phone Service Operators Gets Fiercer before Arrival of 5G

All mobile phone service operators in Thailand look set to compete more fiercely before the 5G technology arrives in the country in two years.

The National Broadcasting and Telecommunications Commission (NBTC)’s report on mobile phone use showed that there were 121.53 million active mobile phone numbers in Thailand in 2017, with the largest market share belonging to Advanced Info Service or AIS, which had 53.05 million numbers its control (43.65%). TRUE was the second largest operators with 36.05 million numbers, followed by DTAC with 30 million numbers, CAT with 2.32 million numbers and TOT with 0.11 million numbers.

In terms of voice service, all three mail operators (AIS, TRUE and DTAC) reported a continued decline as 43.46 million minutes of voice calls were recorded in 2017, down from 51.02 million minutes in 2016.

On the contrary, all reported an big leap in data usage to 3,294,325 gigabytes or over 3 terabytes in 2017 — or six times higher than the record in 2016 — a historic record in Thailand with AIS recording the largest share.

Meanwhile, OpenSignal revealed that there has hardly been any problem searching for 4G signal in Thailand although getting a fast connection remained an issue. It also stated that the LTE service by all three main operators appeared to be slower than the global average of 16.9 Mbps.

In addition, OpenSignal said that TrueMove continued to be the champion in offering 4G connection to users across Thailand, followed by AIS and DTAC.

And as many countries are planning to introduce the 5G technology by 2020, Thailand has been alert and include this in the latest National Economic and Social Development Plan (2017-2021) already.

Write a Comment