ทำไมผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ จึงต้องหันมาพัฒนาฮาร์ดแวร์ บทเรียนจาก Google | THE MOMENTUM
“หากใครที่จริงจัง ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ควรจะสร้างอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของตัวเอง”
คำกล่าวนี้เป็นของ Alan Kay นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการซอฟต์แวร์อย่างมากมาย คนในวงการอาจรู้จักเขาผ่านการเขียนโปรแกรมแบบ Object-oriented และการออกแบบอินเทอร์เฟซที่เป็น ‘หน้าต่าง’ (Windowing Graphical User Interface)
สิ่งที่ Alan Kay พูดถึงเมื่อฟังผ่านๆ อาจจะขัดกับความรู้สึกบ้าง โดยเฉพาะในยุคหลังๆ ที่โลกหมุนไปทางซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน หรือธุรกิจบริการซอฟต์แวร์ (Software-as-a-Service: SaaS) กันมากขึ้น หากใครได้ไปเยี่ยมชมงานออกบูธของสตาร์ตอัปในอีเวนต์ต่างๆ จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ต่างมุ่งเน้นที่การพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ทั้งสิ้น
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการสร้างต้นแบบของซอฟต์แวร์ ที่ง่ายกว่า ราคาถูกกว่าการสร้างต้นแบบทางฮาร์ดแวร์
ถึงแม้จะมีเครื่องพิมพ์สามมิติออกมา ทำให้ต้นทุนการทดลองสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่จับต้องได้นี้มีราคาลดลง แต่ก็ไม่สามารถเทียบเท่าการสร้างต้นแบบทางซอฟต์แวร์ได้ ตัวอย่างเช่น บริษัท Airbnb ที่เน้นเรื่องการออกแบบอย่างมาก ทีมงานได้ทดลองคิดค้นวิธีออกแบบ Interface ของซอฟต์แวร์ เพียงแค่วาดรูปบนกระดาษเท่านั้น หลังจากนั้นก็สามารถแสดงผลบนหน้าจอโดยที่ไม่จำเป็นต้องนั่งพิมพ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ยุ่งยาก
นอกจากเรื่องการสร้างต้นแบบหรือการผลิตแล้ว การขนส่งและการกระจายผลิตภัณฑ์ให้ถึงมือผู้ใช้ยังเป็นสิ่งท้าทายสำหรับการทำผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ข้อได้เปรียบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์คือ ไม่ว่าจะมีคนใช้หนึ่งหมื่นคนหรือหนึ่งล้านคน ต้นทุนที่เกิดจากการ ‘ขนส่ง’ ผลิตภัณฑ์ไปถึง
ถ้ามองในแง่ของแอปพลิเคชันบนมือถือ ต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากการมีลูกค้าเพิ่มขึ้นแทบจะเป็นศูนย์ แต่หากเป็นโลกของฮาร์ดแวร์แล้ว ต้นทุนค่า ‘ขนส่ง’ แทบไม่เคยลดลงตามจำนวนผู้ใช้ ผู้ผลิตยังแบกรับค่าใช้จ่ายนี้อยู่ เพราะต้องคำนึงถึงสินค้าคงคลังที่อยู่ในคลังเก็บสินค้าหรือหน้าร้าน รวมทั้งวัตถุดิบต้นทาง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้หากมีผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์
สำหรับคนที่เริ่มธุรกิจหรือต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพียงเจอสองเหตุผลเบื้องต้น ยังไม่ต้องไปคิดถึงขนาดเม็ดเงินที่ใช้ลงทุน การประกันดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ที่มีตัวเลขแซงหน้าซอฟต์แวร์ไปหลายช่วงตัว ก็ชัดเจนว่าทำไมซอฟต์แวร์เป็นทางเลือกที่ดีกว่า
แต่ในมุมมองของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ กลับไม่มองเช่นนั้น เพราะเมื่อขยายธุรกิจถึงจุดหนึ่งแล้ว สิ่งที่จำกัดการเติบโตของธุรกิจก็คือฮาร์ดแวร์นั่นเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกูเกิล
เชื่อว่าหลายคนรู้และใช้ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลแทบทุกวัน แต่สิ่งที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนขององค์กรและนวัตกรรมในอนาคตคือ ช่วงเวลานี้เมื่อปีที่แล้ว เมื่อกูเกิลได้ตัดสินใจเปิดตัว Google Pixel สมาร์ตโฟนของตัวเองอย่างจริงจัง
แม้ก่อนหน้านี้จะมี Google Nexus แต่สำหรับ Pixel กูเกิลดูแลการออกแบบและการผลิตแบบใกล้ชิด กูเกิลได้วางแบรนด์ของ Pixel ให้ชนกับ iPhone ซึ่งถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนไฮเอนด์เมื่อเทียบกับแอนดรอยด์รุ่นอื่นในท้องตลาด
ปีนี้เป็นอีกปีที่กูเกิลเน้นเปิดตัวผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ตั้งแต่อุปกรณ์ที่เราคุ้นชิน เช่น Pixel 2 สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ หรือลำโพงอัจฉริยะที่ใช้ในบ้านที่มีขนาดและสีให้เลือกหลากหลาย นอกจากนี้ยังมี Google Clips และ Pixel Buds โดยที่หลังจากกูเกิลเปลี่ยนจุดยืนของบริษัทจาก Mobile First มาเป็น AI First อุปกรณ์ใหม่สองชิ้นได้แสดงศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ AI ที่กูเกิลพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
Google Clips เป็นกล้องขนาดเล็กที่คอยบันทึกภาพและวิดีโอในโมเมนต์ต่างๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกดชัตเตอร์ ซึ่งซอฟต์แวร์และงานด้าน Computer Vision ที่บรรจุลงในกล้องจะคอยจับภาพโมเมนต์สำคัญๆ นั้นได้
อุปกรณ์อีกตัวคือ Pixel Buds หูฟังไร้สายที่ทำงานร่วมกับโทรศัพท์ Google Pixel ทำให้ผู้ใช้พูดคุยกับ Google Assistant ผู้ช่วยส่วนตัวของ Google ได้ตลอดเวลา สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือ Pixel Buds สามารถแปลภาษาต่างประเทศได้ทันที (!) ภาษาที่หูฟังอัจฉริยะนี้แปลได้มีจำนวนกว่า 40 ภาษา ตั้งแต่ อังกฤษ จีน สเปน อาระบิก จนถึง ภาษาไทย ต่อไปหากใครต้องการไปเที่ยวในประเทศที่อาจจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก หรือตัวเองยังใช้ภาษาอังกฤษไม่คล่องแคล่ว ก็สามารถเอาตัวรอดได้ไม่ยากนัก
สาเหตุหนึ่งที่ฮาร์ดแวร์มีส่วนสำคัญมากขึ้นสำหรับกูเกิล คือ การมีฮาร์ดแวร์ของตัวเองจะเอื้อประโยชน์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ สามารถทำให้สองส่วนนี้ทำงานร่วมกันได้อย่างไม่ติดขัด
ตัวอย่างเช่น หากเป็นเมื่อก่อนที่ค่ายโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์มีเป็นสิบเป็นร้อยยี่ห้อทั่วโลก การจะให้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทำงานบนสมาร์ตโฟนแล้วมีประสบการณ์เหมือนๆ กันยังเป็นไปได้ยาก เพราะความแตกต่างของฮาร์ดแวร์ อีกทั้งตลาดสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์เปลี่ยนไปแล้ว มียี่ห้อดังๆ เพียงไม่กี่ยี่ห้อที่กินส่วนแบ่งตลาด เช่น ซัมซุง หัวเหว่ย หรือ อ๊อปโป ทำให้ไม่แปลกใจที่กูเกิลจะเริ่มมาเล่นตลาดฮาร์ดแวร์ โดยเริ่มจากสมาร์ทโฟนและขยายไปยังผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ประเภทอื่นๆ
นอกจากการควบคุมการออกแบบและการผลิตฮาร์ดแวร์จะส่งผลดีต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว ประโยชน์อีกด้านของการมีฮาร์ดแวร์ของตัวเองคือ ในยุคที่ข้อมูลเปรียบเสมือนทองคำ ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลโดยตรงจากเครื่องฮาร์ดแวร์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งมีข้อมูลมากยิ่งเป็นต่อ เห็นได้จากการที่กูเกิลยอมจ่ายเงินให้กับแอปเปิลมูลค่าถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้กูเกิลได้เป็นเสิร์ชเอนจินตัวหลักใน iPhone และ iPad
ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ธุรกิจโฆษณาของกูเกิลเจริญเติบโต แต่ข้อมูลที่ได้มายังช่วยให้กูเกิลพัฒนา AI ในอนาคตอีกด้วย
ย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ Alan Kay พูดในตอนต้น ใครจะเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์แบบลึกซึ้งนี้คือสิ่งที่เขาพูดไว้เมื่อ 35 ปี ที่แล้ว ในสมัยที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่องใหญ่ๆ หน้าจอมีเส้นตัวอักษรสีเขียวสว่างบนพื้นหลังสีดำ ความเชื่อในหลักการนี้ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้งเมื่อสิบปีที่แล้ว โดย สตีฟ จ็อบส์
ซึ่งยืนพูดบนเวทีขณะเปิดตัว iPhone เครื่องแรก เขาเกริ่นถึงความสำคัญของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แอปเปิลพัฒนาสมาร์ตโฟนขึ้นมา
และตอนนี้เมื่อโลกกำลังหมุนไปในทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ ความสัมพันธ์ของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะยิ่งเป็นรากฐานสำคัญให้กับอัลกอริธึมที่ซับซ้อนต่างๆ สามารถประมวลผลและตอบโจทย์ของผู้ใช้ได้มากขึ้นในเวลาแค่ชั่วพริบตา
Write a Comment