เผยผลสำรวจ IUB 63 คนไทยใช้เน็ตปังไม่ไหว เกือบครึ่งวัน โควิด-19 มีส่วน

ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2563 สูงถึงวันละ 11 ชม. Gen Z, Gen Y ใช้มากสุด สะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ใช้เน็ตเรียน / ทำงาน พร้อมดึงประเด็น Hot พบผู้ตอบเกือบ 100% เคยพบเห็นข่าวปลอมบนอินเทอร์เน็ต ด้าน Social Media กิจกรรมบนเฟซบุ๊กยังครองแชมป์ 9 ปีต่อเนื่อง

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เพราะจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทุกปี ETDA จึงให้ความสำคัญในการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยผลสด ๆ ร้อน ๆ ของ ที่เพิ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ ETDA ว่า

ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที โดยปีแรกที่ ETDA เริ่มทำผลสำรวจ คือปี 2556 คนไทยใช้เน็ตเฉลี่ยเพียงวันละ 4 ชั่วโมง 36 นาทีเท่านั้น คิดเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว

78.3% ของผู้ตอบแบบสำรวจฯ ตอบว่า มีการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้น จากเหตุผลหลักคือ การที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย และมีเครือข่ายที่ครอบคลุม ส่วนสาเหตุรองลงมาคือ มีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันสามารถทำผ่านออนไลน์มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันผลกระทบจาก COVID-19 ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แทนการเดินทางจากบ้านเรือน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องพบปะผู้คนโดยเฉพาะในที่สาธารณะอีกด้วย

ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียดจะพบว่า ในวันธรรมดาจะมีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 23 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 ชั่วโมง 31 นาที ส่วนในวันหยุด จะมีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 11 ชั่วโมง 29 นาทีต่อวัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 6 นาที

เมื่อแบ่งตามเจเนอเรชัน พบว่า กลุ่ม Gen Y (อายุ 20-39 ปี) มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 26 นาที รองลงมาคือ Gen Z (อายุน้อยกว่า 20 ปี) จำนวน 12 ชั่วโมง 8 นาที ขณะที่กลุ่ม Gen X (อายุ 40-55 ปี) จำนวน 10 ชั่วโมง 20 นาที ส่วน Baby Boomer (อายุ 56-74 ปี) มีการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 41 นาที ตามลำดับ

“สาเหตุที่ภาพรวมจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น และกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่อยู่ในวัยเรียน/วัยทำงานเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีมาตรการปิดสถานศึกษาให้ทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และที่ทำงานส่วนใหญ่มีนโยบายการทำงานแบบ Work from Home ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการทำงานมาเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น” ดร.ชัยชนะ กล่าว

หากจำแนกผู้ตอบแบบสำรวจฯ ตามอาชีพ พบว่า ในกลุ่มนักเรียน/ นักศึกษา มีจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันสูงที่สุด อยู่ที่ 12 ชั่วโมง 43 นาที รองลงมาได้แก่ อาชีพอิสระ/ฟรีแลนซ์ อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 28 นาที พนักงาน/ลูกจ้างเอกชน อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 10 นาที เจ้าของกิจการ/ประกอบธุรกิจส่วนตัว อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 21 นาที ว่างงาน/ไม่มีงานทำ อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 10 นาที ข้าราชการพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นของส่วนราชการ วิสาหกิจ/ องค์กรอิสระ/ องค์การมหาชน/ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ อยู่ที่ 9 ชั่วโมง 41 นาที และพ่อบ้าน/แม่บ้าน อยู่ที่ 9 ชั่วโมง 1 นาที

หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาจะพบว่า นักเรียน/นักศึกษายังคงเป็นกลุ่มอาชีพที่มีจำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันสูงที่สุด โดยมีจำนวนชั่วโมงเพิ่มสูงถึง 1 ชั่วโมง 53 นาที เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคน Gen Z และ Gen Y ที่นิยมทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างคุ้นชิน รวมถึงการเรียนออนไลน์แทนเรียนในห้องเรียน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

จากผลการสำรวจฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ในภาคตะวันออกเฉียง เหนือมีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 29 นาที รองลงมา คือ ภาคเหนือ อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 28 นาที กรุงเทพฯ อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 25 นาที ภาคใต้ อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 23 นาที และภาคกลาง อยู่ที่ 11 ชั่วโมง 22 นาที จำนวนชั่วโมง การใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่จากปีที่ผ่านมา และพบว่า จำนวนชั่วโมงฯ มีความใกล้เคียงกันในทุกพื้นที่ แสดงถึง ความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อระยะเวลาการใช้อินเทอร์เน็ต

จากผลการสำรวจฯ ดังภาพที่ 9 พบว่า สถานที่ที่ผู้ตอบแบบสำรวจฯ นิยมใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดอันดับหนึ่ง คือ บ้าน/ที่พักอาศัย คิดเป็น 67.8% รองลงมาคือ สถานที่สาธารณะ (เช่น ห้างสรพสินค้า ร้านอาหาร/คาเฟ่) คิดเป็น 45.4% ที่ทำงานคิดเป็น 30.19 ร้านอินเทอร์เน็ต/ร้านเกม คิดเป็น 21.39 สถานศึกษา คิดเป็น 17.3% และระหว่างเดินทาง (เช่น รถไฟฟ้า/รถโดยสาร) คิดเป็น 16.2% ตามลำดับ

สัดส่วนสถานที่ยอดนิยมในการใช้อินเทอร์เน็ตมักจะสอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องใช้ในสถานที่นั้น ๆ เช่น บ้าน สถานที่ทำงาน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์หรือความชอบของแต่ละบุคคล เช่น ปัจจุบันคาเฟ่กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมในการนั่งทำงาน/ประชุม/เรียน/อ่านหนังสือ ด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีอาหารเครื่องดื่ม และมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้บริการฟรี (Free Wi-Fi) ทำให้หลายคนใช้เวลาเกือบทั้งวันในร้านประเภทนี้ ส่งผลให้สถานที่สาธารณะเป็นสถานที่ที่คนไทยนิยมใช้อินเทอร์เน็ตรองลงมาจากบ้าน/ที่พักอาศัย

ส่วนการใช้สื่อสังคมออนไลน์ พบว่า Facebook, YouTube และ LINE ยังคงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ครองใจคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ตอบแบบสำรวจฯ ยกให้ Facebook เป็นอันดับที่หนึ่ง คิดเป็น 98.29 รองลงมาคือ YouTube คิดเป็น 97.5% และ LINE คิดเป็น 96.0%

ขณะเดียวกัน สื่อสังคมออนไลน์ที่มาแรงในปีนี้อย่าง TikTok ก็ยังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วโดยมีผู้ใช้บริการ คิดเป็น 35.8% จากผู้ตอบแบบสำรวจฯ ด้วย

จากผลการสำรวจฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ นิยมขายสินค้า/บริการทางออนไลน์ผ่าน Facebook Fanpage มากที่สุด คิดเป็น 64.7% รองลงมาคือ Shopee, Instagram, LINE และ Lazada คิดเป็น 47.5%, 40.8%, 39.4% และ 29.4% ตามลำดับทั้งนี้ ช่องทาง Social Commerce นั้นได้รับความนิยมในหมู่ผู้ขาย เพราะสามารถเริ่มต้นสมัครเข้าใช้งานได้ง่าย มีทั้งแบบเสียค่าใช้จ่าย และไม่เสียค่าใช้จ่ายในการขายสินค้า

การสำรวจแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมการขายสินค้า/บริการทางออนไลน์ในปีนี้ ETDA ได้มีการเพิ่มตัวเลือกแพลตฟอร์มที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจออนไลน์ แต่แพลตฟอร์มไทยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจๆ ตอบว่า ขายสินค้าผ่านทาง Kaidee คิดเป็น 12.6% รองลงมาได้แก่ LnwShop คิดเป็น 3.9% Weloveshopping คิดเป็น 2.5% O shopping คิดเป็น 1.79 Thailand Mall คิดเป็น 1.4% Thailand Postmart คิดเป็น 1.3% Digital OTOP ThaiTamBon และ Otopthai.shop คิดเป็น 1.1 มีผลรวมคิดเป็น 26.7% หรือคิดเป็น กว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจฯ ที่ขายสินค้า/บริการผ่าน Facebook Fanpage เท่านั้น

สำหรับประเด็น Hot Issue ในเรื่องข่าวปลอม จากผลการสำรวจฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ เชื่อว่า มีเพียง 50.2% ของข้อมูลข่าวสาร ที่พบเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ต เป็นข้อมูลจริง สามารถเชื่อถือได้ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังมีความเคลือบแคลง ลังเล และสงสัยถึงความน่าเชื่อของข้อมูลข่าวสารที่พบ และยังไม่ได้เชื่อข่าวที่พบเห็นบนโลกออนไลน์ทุกข่าวในทันที

หากสอบถามถึงการเคยพบเห็นข่าวปลอม (Fake News) บนอินเทอร์เน็ต พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ส่วนใหญ่ถึง 94.7% ตอบว่า เคยพบเห็นข่าวปลอมบนอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ได้หมายถึงจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจฯ ที่พบเห็นข่าวปลอมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการพบเจอข่าวที่มีการแชร์กันว่าเป็นข่าวปลอมทั้งที่ผ่านการตรวจสอบและยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบอีกด้วย

มีตัวเลขที่สนใจอีกมากมาย สามารถดาวน์โหลดได้ที่

ทั้งนี้ ในปี 2564 ทาง ETDA ได้เริ่มจัดสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ภายใต้ Theme “วิถีใหม่ (New Normal) วิถีไทย” แล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้นที่เป็นคนกำหนดทิศทางผ่านการตอบแบบสำรวจ ร่วมตอบได้ที่ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นี้

ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2563 สูงถึงวันละ 11 ชม. Gen Z, Gen Y ใช้มากสุด สะท้อนสถานการณ์โควิด-19 ใช้เน็ตเรียน / ทำงาน พร้อมดึงประเด็น Hot พบผู้ตอบเกือบ 100% เคยพบเห็นข่าวปลอมบนอินเทอร์เน็ต ด้าน Social Media กิจกรรมบนเฟซบุ๊กยังครองแชมป์ 9 ปีต่อเนื่อง

Write a Comment