เมื่อ Google ไม่ใช่แค่ระบบค้นหา แต่ยังทำฮาร์ดแวร์เอง จะรุ่งหรือจะร่วง
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เวลาพูดถึง Google มักนึกถึงระบบการค้นหาที่เชื่อกันว่า “คิดอะไรไม่ออก ถามกูเกิ้ล” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะคนเราทุกวันนี้เวลามีปัญหา อยากได้ข้อมูลที่ต้องการ มักใช้ Google เป็นเครื่องมือในการตอบสนองความอยากรู้และช่วยแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ บางครั้งอาจใช้ไขคำตอบให้กับตัวเองมากกว่าการถามคนข้างๆ ด้วยซ้ำ
นอกจาก Google จะถูกรู้จักในเรื่องระบบการค้นหาแล้ว ระบบปฏิบัติการ Android ก็น่าจะเป็นที่รู้จักของคนอีกจำนวนมากเช่นกัน เพราะมันคือระบบที่อยู่บนสมาร์ทโฟนที่ทุกคนใช้ในทุกวันนี้ (ยกเว้น iPhone) ไม่แค่นั้น Google ยังมีบริการซอฟต์แวร์ต่างๆ อีกจำนวนมาก รวมถึงระบบการโฆษณาออนไลน์ แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่า ทุกวันนี้ Google ยังพัฒนาฮาร์ดแวร์เองด้วย !!!
ฮาร์ดแวร์ที่ผมกล่าวถึงอาจดูกว้างไป สรุปให้แคบลงจะเข้าใจง่ายกว่า แบ่งเป็น สมาร์ทโฟน, แล็ปท็อป, หูฟัง, ลำโพง, แว่น VR เป็นต้น ซึ่งเมื่อค่ำคืนวันที่ 4 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา Google ปล่อยของชุดใหญ่ อาทิ สมาร์ทโฟน Pixel 2 และ Pixel 2 XL, กล้อง Google Clips, ลำโพง Google Home mini และ Google Home Max, แล็ปท็อป Google PixelBook และหูฟัง Google Pixel Buds ทั้งหมดล้วนเป็นฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ในรอบ 1 ปี
ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่ทยอยเปิดตัวถือเป็นความท้าทายที่ Google พยายามขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากการพึ่งพาธุรกิจอย่าง Search Engine, โฆษณา และซอฟต์แวร์ โดยการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของตัวเองไม่เพียงการสร้างรายได้ใหม่ๆ แต่ยังรวมไปถึงการสร้าง ecosystem ให้มีความสมบูรณ์ ผู้ใช้สามารถใช้ฮาร์ดแวร์ พร้อมรับบริการด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Android รวมไปถึงสามารถเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์ในแบรนด์ของ Google ด้วยกันเองได้แบบไร้รอยต่อ
แต่ ecosystem ที่สมบูรณ์อย่างที่ Google กำลังพยายามสร้างก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในอดีต Google ก็เคยเพลี้ยงพล้ำในการพัฒนาฮาร์ดแวร์มาแล้ว เช่น Google Glass ที่แม้จะว้าวสุดๆ ในช่วงเปิดตัว แต่สุดท้ายกลับหายเข้ากลีบเมฆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีวันใดที่ได้เห็นตัวตนของ Google Glass อีกหรือไม่, Project Ara สมาร์ทโฟนถอดประกอบได้ ที่มีมาโชว์ตั้งแต่รูปแบบตัวเครื่อง ไปจนถึงการ Demo การใช้งาน แต่สุดท้ายก็ต้องพับโครงการไปอีกเช่นกัน หรือแม้กระทั่งการซื้อ Motorola ที่สุดท้ายแล้ว Google ก็ต้องขายกิจการส่วนนี้ให้กับ Lenovo หลังจากซื้อมาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
สมาร์ทโฟน Nexus ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Google กับแบรนด์มือถือชั้นนำอย่าง HTC, Samsung, LG, Huawei, Motorola แม้จะได้การยอมรับในวงการสมาร์ทโฟนและผู้ใช้จำนวนมาก แต่สุดท้ายแล้ว Google ก็จำต้องยุติโครงการนี้ เนื่องจากควาต้องการสร้าง ecosystem แบบครบวงจรของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา Google ยังเป็นรอง Apple และ Samsung ที่ทั้งสองแบรนด์ต่างมีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง (แม้ Samsung จะยังใช้ Android เป็นหลัก แต่ก็ยังพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองที่เรียกว่า Tizen อย่างต่อเนื่อง มีการใช้เป็นหลักในสมาร์ทีวีทั้งหมด และสมาร์ทโฟนราคาประหยัดในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ) รวมไปถึงการควบคุบรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์อย่าง Pixel จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ Google เพื่อการแข่งขันกับ Apple และ Samsung ให้มากขึ้น
สมาร์ทโฟน Pixel ตัวแรกเมื่อปี 2016 มาถึงสมาร์ทโฟน Pixel 2 และ Pixel 2 XL ในปี 2017 เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการลุยธุรกิจสมาร์ทโฟน และยิ่งตอกย้ำมากขึ้นหลังจาก Google เพิ่งหว่านเงินกว้านซื้อวิศวกรด้านโทรศัพท์มือถือจาก HTC มาร่วมชายคาเดียวกันกว่า 2,000 คน โดย Rick Osterloh อดีตประธานของ Motorola ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายฮาร์ดแวร์ของ Google ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Verge ถึงความจำเป็นที่ต้องหาทรัพยากรบุคคลเข้ามาเติมเต็มให้กับสายการพัฒนาสมาร์ทโฟน เป็นเพราะ Google ต้องการขยายขีดความสามารถให้กับธุรกิจ พร้อมกับสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับสมาร์ทโฟนของ Google ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดสมาร์ทโฟนในเอเชียให้มากขึ้น
ทิศทางของสมาร์ทโฟน Pixel ชัดเจนว่าถูกวางอยู่ในระดับไฮเอนด์ และมีการวางจำหน่ายเพียงไม่กี่ประเทศ ซึ่งสัดส่วนในตลาดสมาร์ทโฟนก็ต้องยอมรับว่า Google Pixel ยังไม่ติด 1 ใน 5 เลยด้วยซ้ำ แต่นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ Google คาดหวัง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างการรับรู้ให้กับ Google Pixel ติดตามความพึงพอใจและประสบการณ์ของผู้ใช้ผ่านเทคโนโลยี “AI” เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ก่อนจะคาดหวังถึงยอดขายในอนาคต
สมการของ Google ในการสร้าง ecosystem เวลานี้ เป็นการผสานกันระหว่าง ซอฟต์แวร์ + ฮาร์ดแวร์ + AI ซึ่งการใช้เทคโนโลยี AI ภายใต้ Google Assistant ระบบผู้ช่วยฉลาดๆ ที่ถูกบรรจุอยู่ในฮาร์ดแวร์ เพื่อผู้ใช้สามารถใช้งาน AI ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ Google สามารถเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้ที่มีต่อการใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Google เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงฮาร์ดแวร์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น นับเป็นรูปแบบที่ Google คาดหวังว่าจะเป็นข้อได้เปรียบที่มีเหนือกว่าคู่แข่ง ในสภาวะที่เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์กำลังชะลอตัว
Google จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ? ในการลุยตลาดฮาร์ดแวร์ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกในเวลานี้ แต่ Google แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในโลกของ AI เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้มีความทันสมัย เข้าใจพฤติกรรมการใช้งาน พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค
Write a Comment