Bluetooth คืออะไร ? Bluetooth มี Class อะไรบ้าง ? และรู้จัก Bluetooth เวอร์ชันต่างๆ
เมื่อพูดถึง Bluetooth (บลูทูธ) ทุกคนย่อมรู้จักมันในฐานะที่เป็นหนึ่งในรูปแบบการเชื่อมต่อไร้สายระหว่างอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) ต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันก็ต่างก็ใช้มันด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาสมาร์ทวอทช์ (Smartwatch), สมาร์ทแบนด์ (Smart Band), ปากกาสไตลัสดิจิทัล (Digital Stylus Pen), หูฟังไร้สาย (Wireless Headphone), ลำโพงไร้สาย (Wireless Speaker) และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย
แต่คุณรู้ไหมว่าบลูทูธนั้น มี Class แถมยังมีเวอร์ชันกำกับการอัปเดตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มากับตัวมันในแต่ละเวอร์ชันด้วย ทีนี้ มันมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เราจะพาคุณไปรู้จักกับบลูทูธโดยละเอียดกัน
Bluetooth (บลูทูธ) คือ มาตรฐานเทคโนโลยีไร้สายที่เอาไว้แลกเปลี่ยนข้อมูลในระยะสั้นระหว่างอุปกรณ์บลูทูธด้วยกัน ทั้งกับอุปกรณ์อุปกรณ์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์ที่ไม่เคลื่อนที่ โดยใช้คลื่นวิทยุ UHF ในแถบย่านความถี่ ISM ที่เป็นย่านที่มีไว้สำหรับการใช้งานด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ตั้งแต่ 2.402 ถึง 2.48 GHz. และทำการสร้างพื้นที่เครือข่ายส่วนตัวเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ใกล้เคียงด้วย
และนอกจากจะมีไว้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือและเครื่องเล่นเพลง เข้ากับหูฟังไร้สายและลำโพงไร้สาย ที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายอีกด้วย
ประวัติความเป็นมาของ Bluetooth นั้น ตัวชื่อ Bluetooth ถูกตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) โดย Jim Kardach จาก Intel ที่เป็นผู้พัฒนาระบบที่ทำให้โทรศัพท์มือถือสามารถติดต่อสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งในขณะที่เขาคิดค้นเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้น เจ้าตัวก็กำลังอยู่ในระหว่างการอ่านนิยายประวัติศาสตร์เรื่อง The Long Ships ของผู้แต่ง Frans G. Bengtsson ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชนเผ่าไวกิ้ง และกษัตริย์เดนิชในศตวรรษที่ 10 ที่มีนามว่า Harald Bluetooth
ซึ่งคำว่า Bluetooth เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษในเวอร์ชันที่ถูกเรียบเรียงขึ้นมาใหม่จากภาษาสแกนดิเนเวียน ว่า Blåtand / Blåtann (ในภาษานอร์สเก่าคือ blátǫnn) โดยเป็นคำที่ให้ความหมายสื่อถึงกษัตริย์ Harald Bluetooth ว่า เป็นผู้รวบรวมเผ่าต่าง ๆ ของเดนมาร์กให้กลายเป็นอาณาจักรเดียวกัน และถูกใช้เป็นความหมายโดยนัยว่า Bluetooth นั้น เป็นตัวรวมโปรโตคอลการสื่อสารต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง
ส่วนตัวโลโก้สีฟ้าที่เราเห็นกันจนคุ้นตา เป็นอักษรรูนที่ถูกผนวกรวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยมาจากอักษร ᚼ (Hagall) และ ᛒ (Bjarkan)
Class (คลาส) ของ Bluetooth คือ ระดับความแรงที่สามารถส่งข้อมูลไปหาอุปกรณ์บลูทูธอีกชิ้นหนึ่งได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 Class ด้วยกันได้แก่
จากตัวเลขคลาสและประสิทธิภาพด้านบน จะเห็นได้ว่า กำลังส่งและระยะทำการถูกลดหลั่นลงมาเรื่อย ๆ ตามระดับคลาส ทำให้การมีเลขคลาสสูง ไม่ได้หมายความว่าจะส่งสัญญาณได้ไกลขึ้น ดังนั้น การเลือกซื้ออุปกรณ์บลูทูธทุกครั้ง อย่าลืมเช็คคลาสของบลูทูธด้วยทุกครั้ง แต่ถ้าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่ได้ระบุคลาสไว้ ก็อย่าลืมมองหาระยะทำการของมันด้วย เพื่อดูว่าเหมาะสมกับการใช้งานของคุณหรือไม่
การพัฒนาของ Bluetooth แต่ละเวอร์ชัน ได้ถูกบันทึกและเรียกกันเป็นเลขเวอร์ชัน ซึ่งตัวเลขเวอร์ชันที่เพิ่มขึ้น ก็หมายถึงประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการส่งข้อมูลที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน ในแต่ละเวอร์ชันของบลูทูธมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เราจะสรุปคร่าว ๆ พอให้เห็นภาพในแต่ละเวอร์ชันไว้ให้ในด้านล่าง
เวอร์ชัน 1.0 และ 1.0B เป็นเวอร์ชันเริ่มแรกที่ยังมีปัญหาอยู่เป็นจำนวนมาก และบรรดาผู้ผลิตก็ยังประสบปัญหาที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยเวอร์ชัน 1.0 และ 1.0B ยังมีตัวส่งสัญญาณ Bluetooth Hardware Device Address (BD_ADDR) สำหรับใช้ในกระบวนการเชื่อมต่อ ที่ถือเป็นปัจจัยหลักของความล้มเหลวในการให้บริการอุปกรณ์บลูทูธในขณะนั้น
ได้รับการจัดเรตให้อยู่ใน IEEE Standard 802.15.1-2002 ซึ่งเป็นมาตรฐาน IEEE Standard สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศ ในเวอร์ชันนี้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดหลายอย่างที่เกิดขึ้นในเวอร์ชัน 1.0B เรียบร้อยแล้ว และถูกเพิ่มความเป็นไปได้ในการติดต่อผ่านแชนแนลที่ไม่ได้รับการเข้ารหัส พร้อมทั้งมีการเพิ่มตัวบอกระดับความแรงของสัญญาณที่ได้รับ (RSSI หรือ Received Signal Strength Indicator) เข้ามา
• เพิ่มความต้านทานการถูกคลื่นความถี่วิทยุเข้าแทรก โดยหลีกเลี่ยงคลื่นความถี่ที่มีการใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนมากในลำดับที่กระโดดไปไม่เรียงต่อกัน ฟีเจอร์ดังกล่าวถูกเรียกว่า Adaptive Frequency-Hopping Spread Spectrum (AFH)
• เพิ่มฟีเจอร์ Extended Synchronous Connections (eSCO) ที่ทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นโดยการอนุญาตให้สามารถส่งสัญญาณไปหาแพ็กเก็ตที่เสียหายได้อีกครั้ง
• เริ่มใช้งานโหมดควบคุมการไหลของข้อมูลและการส่งสัญญาณซ้ำ (Flow Control and Retransmission Modes) สำหรับ L2CAP
การเปลี่ยนแปลงหลักในเวอร์ชันนี้คือการเปิดตัวระบบ Enhanced Data Rate (EDR) เพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น โดยมีจำนวนบิตเรตในการรับส่งอยู่ที่ 3 เมกะบิต / วินาที ซึ่งถึงแม้ว่าจะกลายเป็นอัตรารับส่งข้อมูลที่รวดเร็วที่สุดในขณะนั้น แต่กลับใช้พลังงานน้อยผ่านรอบการทำงานที่ถูกลดลงด้วยเช่นกัน
ดังที่เห็นว่าชื่อเวอร์ชันถูกเขียนเป็น Bluetooth 2.0 + EDR นั่นหมายความว่า EDR คือฟีเจอร์ที่ถูกเพิ่มเสริมเข้ามาเท่านั้น เพราะตัวเวอร์ชันเองมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ซึ่งถ้าหากอุปกรณ์ไหนไม่มีเทคโนโลยี EDR เข้ามาใช้ อุปกรณ์นั้นจะมีการระบุเอาไว้เลยว่า Bluetooth v2.0 without EDR
Bluetooth 2.1 + EDR คือบลูทูธที่ได้รับการดัดแปลงโดย Bluetooth SIG ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ฟีเจอร์หลักที่ถูกเสริมเข้ามาคือ SSP ที่ย่อมาจาก Secure Simple Pairing (การจับคู่แบบปลอดภัย) ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การจับคู่ที่ดีขึ้นระหว่างอุปกรณ์บลูทูธด้วยกันในขณะที่เพิ่มระดับความแข็งแรงในการรักษาความปลอดภัยของการเชื่อมต่อด้วย
ส่วนการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ก็เช่น การเพิ่ม EIR (Extended Inquiry Response) หรือการขยายการตอบสนองการร้องขอ ที่ทำให้อุปกรณ์ได้รับข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นเพิ่มขึ้นในกระบวนการร้องขอการเชื่อมต่อ ช่วยให้สามารถคัดกรองอุปกรณ์ก่อนการเชื่อมต่อได้ และเพิ่มระบบ Sniff Subrating ที่ช่วยลดการใช้พลังงานระหว่างการเปิดโหมดประหยัดพลังงานด้วย
ฟีเจอร์ใหม่หลัก ๆ ในเวอร์ชันนี้คือ AMP (Alternative MAC / PHY) เป็นเวอร์ชันเพิ่มเติมจาก 802.11 ที่ทำให้สามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง การมีโลโก้ + HS บนอุปกรณ์บลูทูธนั้น ๆ หมายความว่า อุปกรณ์ดังกล่าวรองรับการโอนถ่ายข้อมูลความเร็วสูงที่เหนือกว่า 802.11 แต่ถ้าอุปกรณ์ไหนไม่มี ก็ไม่ได้แปลว่าอุปกรณ์นั้นจะสามารถส่งข้อมูลได้ช้าลง เพียงแค่มันสามารถรับ - ส่งได้ด้วยความเร็วตามมาตรฐานของเวอร์ชัน 3.0 ก็เท่านั้น
Alternative MAC / PHY หมายถึง การเปิดให้สามารถใช้ MAC และ PHYs เข้ามาช่วยเสริมในเรื่องของการส่งข้อมูลโปรไฟล์บลูทูธ ซึ่งคลื่นวิทยุบลูทูธนั้น ยังคงถูกใช้ในการค้นหาอุปกรณ์ใหม่, การเชื่อมต่อ, และการตั้งค่าโปรไฟล์ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลจำนวนมากที่ต้องถูกส่งออกไป การมีตัวรับส่งข้อมูลเสริมความเร็วสูง MAC PHY 802.11 (ที่มักใช้ร่วมกับ Wi-Fi) เพื่อส่งข้อมูล ก็หมายความว่า บลูทูธจะใช้โมเดลการเชื่อมต่อพลังงานต่ำในขณะที่ระบบว่างอยู่ และจะใช้คลื่นวิทยุที่เร็วขึ้นเมื่อต้องส่งออกข้อมูลจำนวนมาก
บลูทูธในเวอร์ชันนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สิ่งที่ถูกรวมอยู่ในเวอร์ชันนี้ได้แก่ โปรโตคอล Classic Bluetooth, Bluetooth High Speed, และ Bluetooth Low Energy (BLE) โดย Bluetooth high speed หรือบลูทูธความเร็วสูงนั้น มีพื้นฐานมาจาก Wi-Fi, และ Classic Bluetooth ก็ประกอบไปด้วยโปรโตคอลบลูทูธรุ่นบุกเบิกด้วย
Bluetooth Low Energy หรือบลูทูธพลังงานต่ำ เป็นที่รู้จักมาก่อนหน้าในชื่อ Wibree ถือเป็นสับเซ็ตของ บลูทูธ เวอร์ชัน 4.0 กับสแตคโปรโตคอลแบบใหม่ทั้งหมดเพื่อการสร้างลิงก์แบบง่าย ๆ ด้วยความเร็วสูง เป็นอีกทางเลือกสำหรับมาตรฐานบลูทูธที่เคยบุกเบิกมาก่อนหน้าแล้วในเวอร์ชัน 1.0 ถึง 3.0 โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานในอัตราที่ต่ำมากจากแบตเตอรี่แบบเหรียญ (หรือที่นิยมเรียกว่า ถ่านกระดุม นั่นเอง) การออกแบบชิปนั้น ทำให้สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งสองรูปแบบ ทั้งแบบ Dual Mode และแบบ Single Mode กับเวอร์ชันเก่าที่ถูกเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมา
ซึ่งในการนี้ ชื่อ Wibree และ Bluetooth ULP (Ultra Low Power) ก็ได้ถูกยกเลิกไป และนำชื่อ BLE มาใช้แทนเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงปลายปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) โลโก้ใหม่ในชื่อ Bluetooth Smart Ready สำหรับตัวอุปกรณ์รับสัญญาณ (Host) และ Bluetooth Smart สำหรับเซ็นเซอร์ ก็ได้ถูกใช้งานอย่างกว้างขวาง
Bluetooth SIG ประกาศรองรับเวอร์ชันนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) การอัปเดตในเวอร์ชันนี้ เป็นการอัปเดตซอฟต์แวร์ให้กับบลูทูธเวอร์ชัน 4.0 ที่เพิ่มฟีเจอร์เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มการสนับสนุนการรองรับ LTE ที่มีอยู่เดิม, เพิ่มอัตราแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมาก, และช่วยในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ กับนักพัฒนาโดยการอนุญาตให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถทำงานสนับสนุนได้พร้อม ๆ กัน
ส่วนฟีเจอร์อื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาในเวอร์ชันนี้ก็เช่น
เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ถือเป็นการเพิ่มฟีเจอร์สำหรับ Internet of Things (IoT) อย่างเป็นทางการด้วย โดยสิ่งที่ได้รับการพัฒนาหลัก ๆ ก็คือ
• การเชื่อมต่ออย่างปลอดภัยโดยใช้พลังงานต่ำ ด้วยส่วนขยายความยาวของแพ็กเก็ตข้อมูล
• รักษาความเป็นส่วนตัวของชั้นข้อมูลด้วยข้อกำหนดในการคัดกรองเพิ่มเติม
สำหรับอุปกรณ์รุ่นเก่ากว่า อาจได้รับฟีเจอร์ในเวอร์ชัน 4.2 เช่น การขยายความยาวของแพ็กเก็ตข้อมูล
Bluetooth SIG ได้ปล่อย Bluetooth 5 ออกมาในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) โดยฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของเวอร์ชันนี้ จะโฟกัสไปที่เทคโนโลยีในหมวด IoT เป็นหลัก โดย Sony เป็นเจ้าแรกที่ประกาศรองรับ Bluetooth 5 ด้วย Xperia XZ Premium เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ในระหว่างงาน Mobile World Congress 2017
หลังจากนั้น Samsung ก็ได้เปิดตัว Galaxy S8 ของตัวเองว่าพร้อมรองรับ Bluetooth 5 แล้วเช่นกันในเดือนเมษายน หลังจากนั้นในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ก็ถึงคิวของ Apple ที่ประกาศรองรับ Bluetooth 5 ใน iPhone 8, 8 Plus, และ iPhone X ซึ่งในปีถัดมา Apple ก็เปิดตัว HomePod ลำโพงอัจฉริยะที่เชื่อมต่อการสั่งการกับอุปกรณ์อื่น ๆ ภายในบ้าน ว่ารองรับ Bluetooth 5 เช่นเดียวกันในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561)
Bluetooth 5 มีการเชื่อมต่อแบบ BLE ซึ่งเป็นตัวเลือกที่สามารถเพิ่มความเร็วในการส่งข้อมูลให้เร็วขึ้นเป็นสองเท่าได้ (2 เมกกะบิต / วินาที ในชั่วขณะหนึ่ง) แต่ก็แลกมาด้วยระยะทางที่สั้นลง หรือเลือกที่จะสามารถส่งข้อมูลได้ไกลกว่าเดิมถึง 4 เท่า แต่ส่งได้ช้าลง เป็นต้น ซึ่งอัตราการส่งผ่านข้อมูลที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นสิ่งสำคัญต่ออุปกรณ์ IoT ที่โหนดต่าง ๆ เชื่อมถึงกันภายในบ้าน ซึ่ง Bluetooth 5 ช่วยเพิ่มความสามารถของบริการที่ใช้การเชื่อมต่อไร้สาย เช่น การนำทางโดยอ้างอิงจากที่อยู่ปัจจุบันโดยใช้การเชื่อมต่อด้วยบลูทูธพลังงานต่ำ
Bluetooth SIG นำเสนอ Bluetooth 5.1 สู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) โดยสิ่งที่ถูกปรับปรุงประสิทธิภาพหลัก ๆ เลยก็คือ
• Angle of Arrival (AoA) และ Angle of Departure (AoD) ที่เป็นเทคโนโลยีในการบอกที่ตั้งตำแหน่งของอุปกรณ์บลูทูธ และสามารถใช้ในการติดตามเวลาสูญหายได้
• พัฒนาดัชนีแชนแนลการสื่อสารให้สามารถเชื่อมต่อได้ดีขึ้นในที่ที่มีสัญญาณบลูทูธเป็นจำนวนมาก
• การเก็บข้อมูลแคชของอุปกรณ์ BLE ต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า GATT Caching (GATT ย่อมาจาก Generic Attribute Profile)
• การอัปเดตเพิ่มประสิทธิภาพเล็กน้อยให้กับการรับส่งข้อมูล และการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย
• การซิงก์ข้อมูลในที่ที่มีสัญญาณบลูทูธเป็นจำนวนมากเป็นระยะ ๆ
ในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) Bluetooth SIG ทำการเผยแพร่สเปกของ Bluetooth 5.2 เป็นครั้งแรก โดยมีฟีเจอร์ใหม่ประกอบไปด้วย
• : รูปแบบเสียงที่ Bluetooth SIG ประกาศเปิดตัวไปในงาน CES เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ซึ่ง LE Audio จะสามารถรันบนคลื่นที่กินแบตเตอรี่ต่ำ BLE และทำให้สามารถเชื่อมต่อหูฟังเข้ากับแหล่งที่มาของเสียงได้มากกว่า 1 แหล่ง หรือทำการเชื่อมต่อหูฟังหลายชิ้น เข้ากับแหล่งเสียงเพียงแหล่งเดียวได้ โดยใช้ LC3 codec แถม BLE Audio ยังรองรับการช่วยเหลือทางการได้ยินด้วย
• เพิ่มประสิทธิภาพให้กับข้อมูลของอุปกรณ์ BLE ต่าง ๆ (Enhanced Attribute Protocol = EATT) ทำให้เชื่อมต่อได้เร็วขึ้น และลดการใช้พลังงานลง
• : ช่วยให้เราสามารถตรวจสอบความแรงของสัญญาณที่เชื่อมต่ออยู่ได้ และทำให้อุปกรณ์สามารถปรับระดับความแรงและคุณภาพที่ใช้ในการสื่อสารกันได้อย่างเหมาะสม
AptX (แอปเท็กซ์) ที่ใช้กับ อุปกรณ์ Bluetooth ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราเพิ่งจะเริ่มเห็นคำนี้แพร่หลายมากขึ้นในศตวรรษที่ 20 แต่แท้จริงแล้ว AptX คือขั้นตอนวิธีการเข้ารหัสสัญญาณเสียง มีตัวย่อมาจาก Audio Processing Technology ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) โดย Qualcomm ที่มุ่งเน้นไปที่การใช้งานกับแอปพลิเคชันเสียงไร้สายเป็นหลัก
ในปัจจุบัน aptX ได้ถูกพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่เป็น aptX ธรรมดา, aptX LL, aptX HD จนมาถึง aptX Adaptive ที่ถือเป็นเทคโนโลยีในยุคใหม่อย่างแท้จริง เพราะมี Codec Latency หรือความหน่วงของสัญญาณในการส่งข้อมูลที่ต่ำมาก เพียง 1.4 - 2.0 มิลลิวินาที แต่สามารถส่งสัญญาณที่มีคุณภาพเสียงในระดับ Hi-res ที่ระดับ 96 kHz (กิโลเฮิร์ตซ์) ได้เลยทีเดียว ในการใช้งานกับอุปกรณ์ไร้สายเพื่อฟังเพลง
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบ iOS จะรองรับ Codec สูงสุดที่ AAC เท่านั้น แต่ฝั่ง Android จะเปิดกว้างกว่า ไม่ว่าจะเป็น Codec ในเครือง aptX หรือ Codec อื่น ๆ อย่าง SBC ที่เป็น Codec พื้นฐาน ไปจนถึง LDAC ที่เป็น Codec ของ Sony ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณคิดจะพึ่งพา Codec เหล่านี้เพื่อการฟังเพลงที่ได้อรรถรสขึ้นแล้วล่ะก็ อย่าลืมตรวจสอบสเปกของมือถือและอุปกรณ์ที่จะใช้งานด้วยว่า ทั้งคู่รองรับหรือไม่
Write a Comment