Metaverse โลกเก่าของคนอื่น แต่เป็นโลกใหม่ของ Mark Zuckerberg และ Meta
หนึ่งในความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกเมตาเวิร์ส ( Metaverse ) เกิดความคึกคักขึ้นมาได้ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะการรีแบรนด์จาก เฟซบุ๊ก (Facebook) ไปเป็น เมตา (Meta) แม้ในช่วงที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีความพยายามที่จะบอกว่า พวกเขาก็คิดถึงเรื่องเมตาเวิร์สมาก่อนเหมือนกัน เหมือนเป็นความพยายามในการส่งสาสน์ว่า เมตาเวิร์ส ไม่ได้เป็นแค่ของเมตาหรือเฟซบุ๊กแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ใครจะมาก่อน ใครจะมาหลัง ไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญ แต่หลักใหญ่ใจความมันอยู่ที่ว่า เมตาเวิร์ส กำลังเป็นน่านน้ำแห่งใหม่ของบริษัทเทคโนโลยีที่จะได้ฟาดฟันกันอีกครั้ง คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไปนัก หากจะบอกว่าการตัดสินใจรีแบรนด์จากเฟซบุ๊กไปเป็นเมตา ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่มากๆ ของเมตาเพราะการรีแบรนด์ครั้งนี้ เหมือนเป็นการขับเคลื่อนองค์กรไปทั้งองคาพยพ จริงอยู่ว่า บริการเดิมๆ ที่อยู่ในมือของเมตา ไล่ตั้งแต่ Facebook, Messenger, WhatsApp, Instagram และ Oculus จะยังทำงานเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะช้าหรือจะเร็วทุกบริการของเมตาก็จะต้องหันเหเข้าสู่โลกของเมตาเวิร์ส เพียงแต่ว่าคนภายนอกอย่างเราๆ ยังมองเห็นไม่ชัดเจนว่า เมตาเวิร์ส ที่มีบริการทั้งหลายแหล่ของเฟซบุ๊กมันจะออกมารูปแบบยังไง เมื่อเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สอย่างเต็มตัว
ถ้าฟังจากการให้สัมภาษณ์ของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในหลายวาระ ทั้งจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ไปจนถึงช่วงการประกาศรีแบรนด์ เท่าที่จับใจความสำคัญได้ สิ่งที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เน้นย้ำเป็นพิเศษ นั่นคือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ในการประชุม ก็จะได้เห็นอวตาร (Avatar) เห็นวัตถุต่างๆ ที่อยู่รอบตัว สามารถเดิน วิ่ง และสำรวจโลกเสมือนได้อย่างอิสระ
แต่ที่แน่ๆ เมตาเวิร์ส ไม่ได้เป็นโลกที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และเมตา กำลังฝันแต่เพียงผู้เดียว นั่นเป็นเพราะว่า โลกเมตาเวิร์ส มันคือแพลตฟอร์ม ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และบริษัทเมตา
ผู้คนจำนวนมากให้นิยามเมตาเวิร์ส โดยเทียบเคียงกับคำว่า Web 3.0 กล่าวคือ เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ไม่ได้เชื่อมต่อกันด้วยเซิร์ฟเวอร์ แต่จะเชื่อมต่อในรูปแบบระบบ Decentralization เหมือนกับบล็อกเชน มีการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางควบคุมข้อมูล กลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่
การสร้างเมตาเวิร์สที่น่าสนใจในเวลานี้ ในมุมมองของผมคิดว่า คงต้องยกให้กับ Fortnite ซึ่งเป็นเกมที่พัฒนาโดยค่าย Epic Games โดยในช่วง 1-2 ปีหลัง Fortnite ได้ขยายตัวเกม เพิ่มส่วนที่เรียกว่า Party Mode เข้าไป กลายเป็นว่า Fortnite จะมีส่วนที่เป็น Non-competitive สามารถสร้างอีเวนต์พิเศษขึ้นมาได้
ยกตัวอย่างเช่น คอนเสิร์ตของดีเจมาร์ชเมลโล ที่มีคนดูพร้อมกับนับสิบล้านคน และคอนเสิร์ตของทราวิส สก็อตต์ ซึ่งมียอดคนดูมหาศาลไม่แพ้กัน จนสามารถกล่าวได้ว่า Fortnite เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างเมตาเวิร์ส
กรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกหนึ่งกรณี นั่นคือ Roblox ซึ่งเป็นเกมที่มีลักษณะเป็นเมตาเวิร์สเหมือนกับ Fortnite เป๊ะ จุดที่น่าสนใจของ Roblox คือการประกาศเป็นพันธมิตรร่วมกับไนกี้ เพื่อสร้างโลกใบใหม่ที่มีชื่อว่า Nikeland ขึ้นมา โดยที่โลกใบนี้ เป็นโลกที่ไนกี้ จะสร้างไอเทมเครื่องแต่งกายสุดพิเศษที่พัฒนามาสำหรับเกม Roblox โดยเฉพาะ ดังนั้น ผู้เล่นสามารถแต่งตัวให้กับอวตารของตัวเอง ด้วยเวอร์ชวลไอเทม เช่น เสื้อ กางเกง สนีกเกอร์ของแบรนด์ไนกี้
ด้วยความเป็นเจ้าพ่อด้านการตลาดของไนกี้ ผมเชื่อสุดใจเหลือเกินว่า ไนกี้ จะใช้พื้นที่ของ Nikeland สำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อหยั่งกระแส และเปิดโอกาสให้ผู้คนในโลกเสมือนได้สวมใส่ไอเทมนี้ ก่อนที่มันจะถูกวางจำหน่ายในโลกความเป็นจริง หรืออาจจะใช้การตลาดแบบคู่ขนาน ซื้อสนีกเกอร์คู่นี้ในโลกความเป็นจริงแล้วสามารถ Redeem code เพื่อปลดล็อกไอเทม
ขณะที่ คู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์ เพื่อความแฟร์ต้องบอกว่า พวกเขาก็มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมโยงกับเมตาเวิร์สอยู่จริงๆ นั่นคือ HoloLens ซึ่งเปิดตัวให้โลกรู้จักในปี 2015 ตามด้วยเมื่อเร็วๆ นี้ กับแพลตฟอร์มการประชุมในรูปแบบเมตาเวิร์ส ซึ่งเรียกว่า Mesh ภายในของแพลตฟอร์มนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความสนุกสนานมากขึ้น ผ่านการสร้างอวตารสามมิติ
ไมโครซอฟท์ เล็งเห็นว่า โลกเมตาเวิร์ส สามารถนำไปผูกรวมกับคอนเทนต์ประเภทเกมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรามีโอกาสที่จะได้เห็นเกมชื่อดังอย่าง Minecraft, Halo และ Flight Sim มาอยู่ในลักษณะของเมตาเวิร์ส โดยเฉพาะเกม Flight Sim ซึ่งจำลองการขับเครื่องบิน นั่นหมายความว่า ผู้เล่นจะได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ด้วยสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับเป็นนักบิน
ในห้วงเวลาเดียวกัน บิล เกตส์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์ ให้ความเห็นในเชิงบวกต่อเมตาเวิร์สเอาไว้ว่า การประชุมในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะอยู่ภายใต้โลกสามมิติแบบเมตาเวิร์ส
สาเหตุที่บิล เกตส์ พยากรณ์ว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี มีเหตุผลหลักจากเรื่องโอกาสการเข้าถึงอุปกรณ์ VR แต่การสร้างอวตารสามมิติ และระบบเสียงรอบทิศทาง (spatial audio) จะช่วยให้ผู้คนได้ดื่มด่ำไปกับการเชื่อมต่อในโลกเสมือนจริง
กลับมาที่ เมตา พวกเขาลงทุนในโลกเมตาเวิร์สอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่การเข้าซื้อ Oculus บริษัทสตาร์ทอัพ (ในเวลานั้น) ด้วยมูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจ่ายเป็นเงินสดและหุ้น ตามด้วยการสร้างโลก VR ขึ้นมาภายใต้ซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า Horizon Worlds รวมถึงแว่นตา Ray-Ban stories จุดนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า เมตา มีอาวุธครบมือเหมือนกันทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพียงแต่ว่า อุปกรณ์ VR ยังไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับแมสที่ผู้คนทั่วโลกต้องมี มันยังไปไม่ถึงสถานะนั้น โดยยอดขายของแว่น VR รุ่นล่าสุดของเมตาอย่าง Oculus Quest 2 มียอดส่งออก (Shipped) ราว 10 ล้านชุดเท่านั้น
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดของเมตาในการเข้าสู่เมตาเวิร์ส นั่นคือ เรื่องของซอฟต์แวร์ เพราะเมื่อเทียบกับ Epic Games ที่มีโปรแกรมเอนจิ้น (Engine) คุณภาพสูงอย่าง Unreal Engine และเครื่องมือสำหรับสร้างวัตถุดิจิทัล ที่จะช่วยเติมเต็มเมตาเวิร์ส ซึ่งสองสิ่งนี้ เมตายังห่างไกลจาก Epic Game อยู่หลายช่วงตัว เพราะ Epic Games สามารถสร้างพื้นที่ประสบการณ์ร่วมกันของคนนับร้อยๆ คน จาก Fortnite ซึ่งเป็นเกม Battle Royale และการจัดคอนเสิร์ตผ่านรูปแบบของ Party Mode
อีกหนึ่งบริษัทที่น่าสนใจ ก็คือ Niantic จากเดิมที่เคยเป็นบริษัทสตาร์ทอัพภายในของกูเกิลในปี 2010 ก่อนที่ในอีก 5 ปีต่อมาจะสปินออฟกลายเป็นบริษัทอิสระ การเริ่มต้นของ Niantic น่าสนใจ เพราะพวกเขาวางตัวเป็นบริษัทที่มีแอนิเมชันซ้อนทับกับโลกความเป็นจริงโดยใช้ซอฟต์แวร์และสมาร์ทโฟน เริ่มตั้งแต่เกม Ingress ซึ่งสร้างชื่อให้กับ Niantic ตามด้วย Pokemon Go เรื่อยไปจนถึง Harry Potter และ Pikmin Bloom ที่เพิ่งเปิดตัว ต่างก็มีแนวคิดที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของเมตาเวิร์ส
แนวคิดเมตาเวิร์สของ Niantic น่าจะมีความต่างจากคนอื่น เพราะแนวคิดของ Niantic คือการพาคนให้ก้าวออกจากบ้าน เพื่อไปเชื่อมต่อกับผู้คนที่อยู่รอบตัว สร้างปฏิสัมพันธ์กัน เพราะนี่คือผลจากการวิวัฒนาการของมนุษย์ที่มีมาตลอดสองล้านปี
แม้เมตา จะบอกว่าพวกเขาจะพร้อมทุ่มเงินนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเอนจิ้น ตอนนี้พวกเขายังเป็นรอง Epic Game อยู่เยอะนะครับ อีกทั้ง Meta Quest 2 ยังเป็นอุปกรณ์ที่ต้องพึ่งพิงชิปเซตจากควอลคอมม์ (Qualcomm) นั่นหมายความว่า เมตา ต้องสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) พร้อมกันทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สร้างไม่ง่ายครับ
อย่างไรก็ดี การประกาศก่อนใครว่าจะลงทุนในเมตาเวิร์ส ถือได้ว่าเป็นแต้มต่อของเมตา ที่มีโอกาสได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของโลกใหม่ก่อนใครได้เหมือนกัน และการประกาศรีแบรนด์ก็ช่วยกลบเสียงในแง่ลบที่มีมาอย่างต่อเนื่องภายใต้แบรนด์เฟซบุ๊กไปในตัว หรือถ้าพูดให้ตรงไปตรงมากว่านั้น นี่คือการชุบตัวของเฟซบุ๊ก ก็ว่าได้
นอกเหนือจากนี้แล้ว เมตาเวิร์ส เป็นดินแดนที่ใหม่มากๆ ซึ่งพี่เบิ้มอย่างแอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google) ยังไม่มีความเคลื่อนไหวโดยมีนัยสำคัญออกมา
ในรายของแอปเปิล ตามปกติแล้ว พวกเขาเลือกที่จะไม่เคลื่อนไหวก่อนใคร แต่จะดูทิศทางและความเป็นไปได้ ก่อนที่จะลงไปจับตลาดนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการดิสรัปต์ (Disrupt) วงการโทรศัพท์มือถือจากฟีเจอร์โฟนไปเป็นสมาร์ทโฟนด้วย iPhone (1st generation) ในปี 2007
ถ้าว่ากันตรงๆ เมตาก็คงไม่มีปัญหาที่จะเอาชนะกูเกิลและแอปเปิลได้ในธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่เมตาเวิร์ส เป็นของใหม่ เป็นธุรกิจที่ทุกคนเริ่มต้นจากศูนย์แทบจะพร้อมๆ กัน
ดังนั้น โอกาสยังเปิดกว้างเสมอ ที่ทุกแบรนด์จะได้ร่วมสร้างเมตาเวิร์สไปพร้อมกัน (บนสมมติฐานว่าทุกคนคิดจะสร้างเมตาเวิร์สให้มันเป็นระบบเปิด) ไม่ใช่เฉพาะเมตาของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แต่ยังหมายรวมถึง Epic Game และ Niantic ผู้พัฒนาเกม Pokemon Go ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากต่อการพัฒนาโลกเมตาเวิร์ส.
Write a Comment