ทำความรู้จัก YouPik แอปพลิเคชันน้องใหม่สายช้อป
เพิ่งผ่านวันที่ 9 เดือน 9 มาไม่นาน บอกพี่ทุยเลยว่าโดนค่าเสียหายชนิดที่เรียกว่ายับ ฮ่า ๆ วันนี้พี่ทุยขอเตือนว่าให้ขาช้อปทั้งหลายรีบ เอา Application Internet Banking ในมือถือออกด่วน ๆ เพราะวันนี้พี่ทุยมีเรื่องราวเกี่ยวกับแอปพลิเคชันช้อปปิ้งที่กำลังฮอตฮิตติดลมบนมาฝาก ถ้าเลื่อนหน้า Newsfeed กันบ่อย ๆ พี่ทุยมั่นใจว่าต้องเคยเห็นกันบ้างแหละกับ Application ตัวนี้มีชื่อว่า “YouPik” นั่นเอง
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับ Application นี้กันก่อนเลย YouPik เค้าคือ Application ช้อปปิ้งออนไลน์น้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาตีตลาดไม่นานนี้ และไม่ทันไรก็เป็นที่นิยมจนตีขึ้นเป็นอันดับ 3 รองจากพี่ใหญ่ในวงการอย่าง Shopee และ Lazada ซึ่งจริง ๆ แล้วเค้าเป็น App ในเครือของ Lazada เองนั่นแหละ แต่รูปแบบการขายก็มีความต่างกันอยู่หลายข้อนะ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ตลาด E-Commerce ได้มีมูลค่าสูงขึ้นทุก ๆ ปี สาเหตุหลักน่าจะมาจากการเข้าถึงสมาร์ทโฟน อย่างที่เห็นว่า เดี๋ยวนี้สมาร์ทโฟนมีหลายราคามาก ตั้งแต่ราคาสบายกระเป๋าไม่กี่พันบาทจนถึงสมาร์ทโฟนรุ่นที่มีฟังก์ชั่นรองรับการทำงานครบครันราคาหลายหมื่นบาท แต่ไม่ว่ารุ่นไหน ๆ ล้วนสามารถเข้าใช้งาน Social Network พื้นฐาน รวมถึง E-Marketplace ได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ปัจจุบันคนไทยถึง 80% จะได้ครอบครองเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนและมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 45 ล้านคน คิดเป็นเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4.2 ชั่วโมงต่อวัน
จากสถิติพบว่า ค่าเฉลี่ยในการใช้สมาร์ทโฟนช้อปปิ้งออนไลน์ของคนทั้งโลกอยู่ที่ 55% ประเทศที่มีพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยสมาร์ทโฟนสูงเป็นอันดับ 1 คืออินโดนีเซีย ที่ 76% อันดับที่ 2 คือ จีน ด้วยตัวเลข 74% และไทยเราก็ตามมาติด ๆ เป็นอันดับ 3 ที่ 71% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่พอสมควรเลย
เพราะฉะนั้นเราคงพอเห็นภาพแล้วว่า ทำไมการขายของออนไลน์ถึงเป็นช่องทางที่พ่อค้าแม่ค้าสนใจกันมาก ไม่ว่าใครก็ต่างพูดถึงแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์อย่าง Lazada, Shopee และตอนนี้อาจจะมี “YouPik” เข้ามาขอส่วนเเบ่งเค้กก้อนโตของตลาดนี้อีกเจ้านึง
หลาย ๆ คนอาจเคยคิดว่า “Lazada และ Shopee ขายของดีขนาดนั้น ต้องกำไรปีนึงเป็นหลายพันล้านเเน่เลย” พี่ทุยขอบอกว่าตรงกันข้ามกับที่เราคิดเลยจ่ะ
• Lazada เปิดมาตั้งเเต่ ปี 2555 และขาดทุนมาตลอด ต่อมาปี 2558 ขาดทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ในปี 2559 ขาดทุน 2,100 ล้าน ส่วนปี 2560 ขาดทุน 570 ล้านบาท
• Shopee เพิ่งเปิด ปี 2559 และในปี 2559 นั้น ขาดทุนประมาณ 530 ล้านบาท ส่วนปี 2560 ขาดทุนไป 1,400 ล้านบาท
ถึงจะเป็น Application ช้อปปิ้งออนไลน์เหมือนกัน แต่เค้าก็มีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป Lazada จะเน้นกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่โตกว่าส่วน Shopee จะเน้นกลุ่มเด็กวัยรุ่น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ใช้งาน 58% ของ Shopee เป็นผู้หญิง ในขณะที่ผู้ใช้งาน 57% ของ Lazada เป็นผู้ชาย รูปแบบหน้าตาของ Application Lazada จึงดูเรียบและขรึมมากกว่า Shopee
แต่เค้าทำการตลาดโดยการ “แข่งขันด้านราคา” เหมือนกัน พูดง่าย ๆ คือการแข่งกันลดแลกแจกแถม จัดโปรโมชั่น เช่น 9 เดือน 9 ซึ่งพอ Lazada มี Shopee ก็มีด้วย ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นผลดีต่อผู้บริโภคเพราะจะได้สินค้าที่ถูกลง โปรโมชั่นงาม ๆ เป็นต้น ส่วนผลที่มีต่อฝั่งผู้ขายและทาง Application น่ะเหรอ ? ก็อย่างที่เห็นในตัวเลขกำไร-ขาดทุนนั่นแหละ
แต่น้องใหม่สายช้อปอย่าง YouPik ไม่ได้เข้าสนามมาด้วยความตั้งใจที่จะทำกำไรโดยการดึงลูกค้ามาซื้อของในราคาที่ถูกกว่า แต่เค้าทำการตลาดผ่าน
“การบอกปากต่อปาก”
บิลบอร์ด ในขณะที่สมัยที่แทบทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ๆ พอกับการเข้าถึงอากาศอย่างยุคนี้ การแนะนำจากคนรู้จักหรือแม้แต่การรีวิวจากคนที่เราไม่รู้จักกลับเป็นอะไรที่มีอิทธิพลต่อการซื้อของผู้คนมาก เพราะมี Social Network เป็นกระบอกขยายเสียงจากผู้ใช้งานจริงไปทั่วโลกยังไงล่ะ
ถึงสินค้านั้น ๆ จะมีการโฆษณาในทุกสื่อ และโฆษณาแบบฮาร์ดคอร์ด้วย แต่ได้รับการพูดถึงหรือรีวิวจากผู้ใช้งานจริงทางอินเทอร์เน็ตว่าไม่ดีสมคำโฆษณา การโฆษณานั้น ๆ ก็ย่อมไร้ผล
• พบว่าลูกค้าจำนวน 57% ที่จะไม่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการร้านที่ได้รับการรีวิวจากอินเทอร์เน็ตไม่ดี
• ลูกค้า 92% บอกว่าเหตุผลหลักในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการร้านใด ๆ มาจากการเชื่อในคำแนะนำแบบปากต่อปากนี่แหละ
• ลูกค้า 76% จะแนะนำสินค้าจากบริษัทที่พวกเขาไว้ใจให้กับคนรู้จัก
• ลูกค้า 20-50% บอกว่าเหตุผลหลักที่เป็นเบื้องหลังของการตัดสินใจซื้อของมาจากคำแนะนำแบบปากต่อปาก
ระบบการขายของ “YouPik” เป็นรูปแบบการตลาดโดยอาศัยคำแนะนำแบบปากต่อปากเต็ม ๆ เลย โดยให้ผู้ขายทำการรีวิวสินค้านั้น ๆ ลงโซเชียลของตัวเอง เช่น Facebook หรือ บางทีก็เป็น “Influencer” หรือผู้ที่เป็นที่รู้จักในวงการนั้น ๆ เช่น Beauty Blogger ก็จะรีวิวชักชวนคนมาซื้อสินค้าเกี่ยวกับความสวยความงามผ่านทางแฟนเพจใน Facebook ของตัวเอง
ดู ๆ ไปหลายคนก็คงนึกเถียงในใจว่านี่มันธุรกิจ MLM นี่หน่า แต่ถ้าพิจารณาดี ๆ แล้วก็จะพบว่ามีความแตกต่างหลายข้อเหมือนกันนะ เช่น ไม่ต้องเน้นรักษายอดขาย บังคับทำยอดและไม่ได้มีค่าแรกเข้า (แต่ต้องซื้อของให้ครบ 999 บาท ถึงจะเป็นผู้ขายได้)
YouPik เป็นตัวอย่างของธุรกิจแนวใหม่ที่ยืนยันกับเราว่า ไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ในโลกทุกวันนี้ เพียงแค่เราพลิกมุมคิด คำว่า “ไม่” ตรงกลางก็จะหลุดออกไปเอง อย่างการขายของที่น่าจะต้องพึ่งพาการโฆษณาเต็ม ๆ ก็สามารถเปลี่ยนเป็นการโฆษณาฟรี ๆ แบบปากต่อปากจากผู้ใช้งานได้
มาติดตามดูกันว่าความนิยมในน้องใหม่อย่าง YouPik จะยั่งยืนหรือเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ที่เดี๋ยวเดียวผู้คนก็ต่างลืม นี่เขียนไปเขียนมา พี่ทุยก็ชักอยากไปส่องสินค้าใน YouPik บ้างเเล้ว แต่ไม่ว่าของชิ้นนั้น ๆ จะเย้ายวนยังไงก็ต้องคิดให้ดีก่อนซื้อนะ ไม่งั้นแทนที่จะได้ทรัพย์สิน กลับได้หนี้มาเสียเต็มบ้านเลย(อิอิ)
Write a Comment