ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือชูจุดขายมาตรฐาน IP CODE ในโทรศัพท์มือถือ
ช่วงสองสามปีหลังมานี้ เรามักจะได้ยินเรื่องของมาตรฐาน IP กันบ่อยขึ้นมาก เมื่อเหล่าผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือค่ายยักษ์ใหญ่ต่างพากันชูจุดขายเรื่องมาตรฐาน IP ที่บอกว่าสามารถกันน้ำได้กันมากขึ้น ถึงนผู้ซื้อนำไปถ่ายรูปใต้น้ำ หรือนำไปแช่น้ำกันเลยทีเดียว โดยในความเป็นจริงแล้ว สามารถทำได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐาน IP ที่แตกต่างกัน โดยสังเกตุได้จากตัวเลขที่ต่อหลัง IP นั่นเอง ที่จะเป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการกันน้ำของโทรศัพท์มือถือของคุณได้นั่นเอง ในบทความนี้จึงได้หยิบยกเรื่องของมาตรฐาน IP มาให้ได้รู้จักกันอย่างง่ายๆ ว่าตัวเลขที่เห็นอยู่นั้นมีความหมายว่าอย่างไร
ก่อนอื่น ถ้าย้อนไปเมื่อซัก 5 – 6 ปีก่อนหน้านี้ คำว่ามาตรฐาน IP นั้นมีมาก่อนแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกจำกัดความเอาไว้ถึงมาตรฐานในการกันความชื้น หรือกันน้ำ แต่จะเป็นในเรื่องของการรับแรงกระแทกของอุปกรณ์ของคุณนั่นเอง นั่นก็เพื่อบ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของโทรศัพท์มือถือของคุณที่จะไม่พังง่ายๆ หากตกพื้น หรือมีอะไรมาตกกระทบตัวเครื่องของคุณนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันนี้มาตรฐานดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้ว นั่นก็เพราะเป็นอันรู้กันว่ามาตรฐานของโทรศัพท์มือถือทั่วไปในปัจจุบันนี้ จะมีความแข็งแรงพอ หากคุณถืออยู่แล้วทำหล่นก็จะไม่พัง หรือเสียหายนั่นเอง (โดยมาตรฐานความสูงมักจะอยู่ที่ระดับเอวของคุณ) ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานโดยทั่วไปของโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
สำหรับมาตรฐาน IP ในปัจจุบันนั้นถูกจำกัดความเอาไว้ถึง มาตรฐานที่บอกระดับการป้อง ฝุ่น และ น้ำ ของเครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้านั่นเอง โดยจะถูกแสดงด้วยตัวเลข 2 หลักที่อยู่ตามหลัง IP เช่น IP 69 โดยตัวเลขแรกนั้นจะอยู่ที่ 0 – 6 ซึ่งหมายถึงระดับการป้องกันของฝุ่น หรือการสัมผัสโดยบังเอิญ ส่วนตัวเลขที่สองนั้นจะอยู่ที่ 0 – 9 ซึ่งหมายถึงระดับการป้องกันของน้ำนั่นเอง ทีนี้เราลองมาดูกันว่าตัวเลขต่างๆ ระหว่าง 0 – 6 ของการกันฝุ่น และ 0 – 9 ของการกันน้ำนั้นมีระดับความหมายในการป้องกันอย่างไร
1 = ป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 50 mm ขึ้นไป
ตัวอย่าง ป้องกันการสัมผัสตัวอุปกรณ์โดยไม่ตั้งใจจาก มือ หรือ ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
2 = ป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 12 mm ขึ้นไป
ตัวอย่าง ป้องกันการสัมผัสตัวอุปกรณ์โดยไม่ตั้งใจจาก นิ้วมือ หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
3 = ป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 2.5 mm ขึ้นไป
ตัวอย่าง ป้องกันการสัมผัสตัวอุปกรณ์โดยไม่ตั้งใจจาก ไขควง หรือ เครื่องมืออื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
4 = ป้องกันของแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 1 mm ขึ้นไป
ตัวอย่าง ป้องกันการสัมผัสตัวอุปกรณ์โดยไม่ตั้งใจจาก สายไฟ, เส้นลวด, ไขควงขนาดเล็ก, แมลงบางชนิด หรือ เครื่องมืออื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
5 = ป้องกันฝุ่นได้ แต่อาจมี ฝุ่นเล็กน้อย เล็ดลอดเข้าไปโดยฝุ่นที่เล็ดลอดเข้าไปนั้นต้อง ไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของอุปกรณ์
ตัวอย่าง ส่วนใหญ่มาตรฐาน IP นี้จะอยู่ในเครื่องมือวัดแบบพกพาหรืออุปกรณ์ที่ใช้เป็นครั้งคราวโดยฝุ่นอาจเล็ดลอด เข้าไปได้จากฝาปิดแบตเตอรี่แต่เนื่องด้วยเวลาการใช้งานที่สั้นจึงทำให้ฝุ่นแทบจะเข้าไปไม่ได้เลย
6 = ป้องกันฝุ่นได้สมบูรณ์ โดยมาตรฐานนี้ถูกทดสอบเป็นเวลา 8ชั่วโมง
ตัวอย่าง ส่วนใหญ่มาตรฐาน IP นี้จะอยู่ในเครื่องมือวัดแบบติดตั้งหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ถูกใช้งานในพื้นที่ตลอดเวลา
1 = ป้องกันหยดน้ำ ที่ตกกระทบใน แนวตั้ง กับตัวอุปกรณ์เท่านั้น
ทดสอบโดย ปล่อยหยดน้ำในแนวตั้งปริมาณเทียบเท่าสายฝนขนาด 1 mm/min เป็นเวลา 10 นาที
2 = ป้องกันหยดน้ำ ที่ตกกระทบใน แนวเฉียง รอบตัวอุปกรณ์ได้ ทำมุม สูงสุด 15 องศา จากแนวตั้ง
ทดสอบโดย ปล่อยหยดน้ำในแนวเฉียงปริมาณเทียบเท่าสายฝนขนาด 3 mm/min เป็นเวลา 2.5 นาที 4 ด้าน (รวมทั้งหมด 10 นาที)
3 = ป้องกันละอองน้ำ ที่ตกกระทบ ในแนวเฉียง รอบตัวอุปกรณ์ได้ทำมุม สูงสุด 60 องศา จากแนวตั้ง
ทดสอบโดย ใช้หัวฉีดสเปรย์ ฉีดไปที่อุปกรณ์โดยมีแผ่นป้องกันน้ำเป็นเวลา 1 นาที โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 5 นาที
4 = ป้องกันละอองน้ำ ที่ตกกระทบตัวอุปกรณ์ได้จาก ทุกทิศทาง
ทดสอบโดย ใช้หัวฉีดสเปรย์ ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ เป็นเวลา 1 นาที โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 5 นาที
5 = ป้องกันน้ำจากการฉีด ที่ตัวอุปกรณ์ได้จาก ทุกทิศทาง
ทดสอบโดย ใช้หัวฉีดขนาด 6.3 mm ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ ที่ระยะห่าง 3 m เป็นเวลา 1 นาที โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 3 นาที
6 = ป้องกันน้ำจากการฉีดแบบรุนแรง ที่ตัวอุปกรณ์ได้จาก ทุกทิศทาง
ทดสอบโดย ใช้หัวฉีดขนาด 12.5 mm ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ ที่ระยะห่าง 3 m เป็นเวลา 1 นาที โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 3 นาที
6K = ป้องกันน้ำจากการฉีดแรงดันสูง ที่ตัวอุปกรณ์ได้จาก ทุกทิศทาง
ทดสอบโดย ใช้หัวฉีดขนาด 6.3 mm ฉีดรอบตัวอุปกรณ์ด้วยแรงดัน 1,000 kPa ที่ระยะห่าง 3 m
เป็นเวลา 1 นาที โดยใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมดอย่างน้อย 3 นาที
7 = ป้องกันการแทรกซึมของน้ำ จากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำได้ที่ความลึก สูงสุด 1 m เป็นระยะเวลาสูงสุด 30 นาที
การทดสอบ ในกรณีที่เป็นอุปกรณ์ ขนาดเล็ก จะแช่ตัวอุปกรณ์ลงในน้ำที่ความลึก 1 m ในกรณีที่เป็นอุปกรณ์ ขนาดใหญ่ จะแช่ตัวอุปกรณ์ลงในน้ำที่ความลึก 1.5 m เป็นระยะเวลา 30 นาที ทั้ง 2 กรณี
8 = ป้องกันการแทรกซึมของน้ำ จากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำได้ แบบถาวร
การทดสอบ เนื่องจากระยะความลึกในการใช้งานของอุปกรณ์แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน การทดสอบของมาตรฐาน IP นี้จะขึ้นอยู่กับโรงงานผู้ผลิตโดยตรงซึ่งโรงงานผู้ผลิตจะระบุความลึกสูงสุดในการใช้งานของอุปกรณ์มาด้วย
9 = ป้องกันน้ำจากการฉีดแรงดันสูงพิเศษ ที่ตัวอุปกรณ์ได้จาก ทุกทิศทาง ที่อุณหภูมิน้ำ สูงสุด 80 °C
ทดสอบโดย ใช้หัวฉีดรอบตัวอุปกรณ์ 4 ตำแหน่งคือทำมุม 0, 30, 60, 90 องศาจากแนวตั้งของอุปกรณ์ที่ระยะห่าง 100-150 mm ที่อุณหภูมิน้ำ 80 °C เป็นเวลาตำแหน่งละ 30 วินาที (รวมทั้งหมด 2 นาที)
คราวนี้คุณก็สามารถลองสังเกตโทรศัพท์มือถือของคุณดูได้แล้วว่ามีความสามารถในการป้องกันน้ำและฝุ่นละอองอยู่ในระดับไหน ซึ่งโดยทั่วไปที่เรามักจะเห็นกันได้บ่อยๆ ในโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของคุณก็มักจะมีมาตรฐานอยู่ที่ IP 54 หมายถึง สามารถมีฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปได้ แต่ไม่มีผลกระทบต่อการใช้งาน และกันละอองน้ำได้ที่ตกกระทบทั่วไปได้ หรือ IP 65 หมายถึง ป้องกันฝุ่นละอองได้อย่างสมบูรณ์ และป้องกันละอองน้ำได้ทุกทิศทางนั่นเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ แต่ก็ยังมีอุปกรณ์บางรุ่นที่มีความสามารถในการป้องกันถึง IP67 และ IP68 เช่นกัน ซึ่งก็มีวางจำหน่ายออกมาหลายรุ่นแล้ว
ทั้งหมดนี้หากดูเป็นตัวเลขข้อมูลที่วุ่นวายไปหน่อยสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ ก็อย่าได้กังวลใจไป เพราะการใช้งานของโทรศัพท์มือถือของคุณนั้น ก็มิได้มีเพื่อการใช้งานในน้ำ หรือการต้องทำงานกับฝุ่นละอองอยู่แล้วเช่นกัน ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลไปว่ามือถือของเรานั้นจะกันน้ำได้หรือไม่ กันได้ขนาดไหน เอาง่ายๆ ว่าถ้าคุณไม่ได้ทำตกน้ำ หรือนำไปแช่น้ำ แต่เพียงแค่โดนละอองฝน หรือเปียกนิดหน่อย แค่เช็ด แล้วรอให้แห้ง มือถือของคุณก็สามารถใช้งานได้ปกติ โดยไม่มีปัญหาใดๆ หรือถ้าเผลอทำตกจากโต๊ะ หรือถืออยู่แล้วหลุดมือหล่ะก็ ไม่พังง่ายๆ แน่นอน นอกเสียจากทางผู้ผลิตจะบอกว่าสามารถนำลงน้ำได้ แต่ก็อย่าลืมตรวจสอบให้ดีก่อนนำมือถือของคุณลงน้ำ เพราะถึงจะโฆษณาว่ากันน้ำได้ก็จริง แต่ประกันอาจจะหลุดได้เหมือนกันนะ ทางที่ดีไม่เสี่ยงเอามือถือของคุณลงน้ำจะดีที่สุด ^^
Write a Comment