มารู้จักกับ 1G 2G 3G 4G กันเถอะ

มารู้จักกับ 1G 2G 3G 4G กันเถอะ

นับตั้งแต่มีการพัฒนาในด้านวงการโทรศัพท์มือถือมาอย่างต่อเนื่อง จนเข้ามาสู่ยุคของโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่าสมาร์ทโฟนนี้ ดูเหมือนว่าตอนนี้ แทบจะทุกคนก็หันมาใช้สมาร์ทโฟนกันหมดแล้ว เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้รอบด้าน ทั้งการติดต่อสื่อสาร หรือด้านบันเทิงต่างๆ อย่างครบครันแล้ว ราคาสมาร์ทโฟนในสมัยนี้ก็มีให้เลือกหลากหลายมากมาย เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในทุกระดับชั้น และนั่นยิ่งทำให้ผู้คนเลือกที่จะใช้สมาร์ทโฟน จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว

และในยุคที่ใครๆ ก็ใช้สมาร์ทโฟนนั้น สิ่งที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยนี้ก็คือ สัญญาณประเภทข้อมูล (Data) ที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อข้อมูลที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของอินเทอร์เน็ต หรือเรียกง่ายๆ ว่า การเล่นอินเตอร์เน็ตบนมือถือนั่นเองค่ะ ซึ่งในช่วงหลังนี้เรามักจะได้ยินศัพท์ที่พูดกันว่า 3G บ้าง 4G บ้าง เผลอๆ มี 5G ให้ได้ยินกันแล้ว และนั่นคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของสมาร์ทโฟนเหล่านี้นี่เองค่ะ และนี่ก็คือสิ่งที่เราจะมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันว่า 3G, 4G เหล่านั้นมันคืออะไรกันแน่?

ตอนนี้หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินคำว่า 5G กันมาบ้างแล้ว ถือเป็นยุคใหม่ของวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่กำลังมีการต่อยอดจากความสำเร็จในอดีต พัฒนาไปสู่อนาคตกันอย่างต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด แต่ก่อนที่เราจะไปถึง 5G ที่กำลังอยู่ในช่วงของการวิจัยในต่างประเทศนั้น เรามาทำความรู้จักในส่วนของ 1G 2G 3G และ 4G กันก่อนดีกว่า ซึ่งหลายคนในยุคนี้อาจจะไม่ยังไม่คุ้นหูกับคำว่า 1G มากนัก แต่ถ้าดูจากระยะเวลาแล้ว ยุคของ 1G เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) นี่เอง และไม่น่าเชื่อเลยว่า ผ่านไปไม่ถึง 40 ปี ในตอนนี้ เราก็กำลังจะเข้าสู่ยุค 5G กันแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาเข้าสู่แต่ละช่วงนั้น จะถูกพัฒนาในทุกๆ 10 ปี อย่าง 1G เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผ่านเข้ามาปี พ.ศ. 2533 ก็เริ่มเข้าสู่ยุคของ 2G ใช้ครั้งแรกที่ประเทศฟินแลนด์ ผ่านมาในปี พ.ศ. 2544 ก็เป็นยุคของ 3G ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกที่เริ่มมีการแบ่งเป็นช่วงยุคของโทรศัพท์มือถือ โดยเทคโนโลยีของยุคนี้ถูกใช้ในครั้งแรกที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมาไม่นานนี้ก็เข้าสู่ช่วง 4G ส่วนคำว่า 5G นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเกาหลี และขณะนี้กำลังมีการวิจัยกันอยู่ คาดว่าอีกไม่นานก็คงจะเข้าสู่ยุค 5G กันแล้ว ก็ต้องมารอลุ้นกันว่า ประเทศไทยเราจะปรับให้ทันสมัยเท่าสากลได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ เราไปดูกันดีกว่า คำว่า 1G 2G 3G 4G นั้น แท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ แล้วในแต่ละยุคสมัยนั้นมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ

G คืออะไร?

คำว่า G ย่อมาจากคำว่า Generation ที่แปลว่า ยุค, สมัย, รุ่น ซึ่งเมื่อเอาไปใช้รวมกับตัวเลข ในภาษาอังกฤษจะออกเสียงว่า First Generation, Second Generation, Third Generation เป็นต้น และถูกย่อเป็นคำว่า 1G, 2G, 3G ซึ่งเป็นชื่อเรียกในแต่ละยุคของเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Telecommunications Technology) เราไปดูแผนผังในแต่ละยุคคร่าวๆ กันก่อนจะไปเจาะลึกกันต่อที่รายละเอียดด้านล่างค่ะ

ผังภาพแสดงแต่ละยุคสมัยของโทรศัพท์มือถือ

1G

เมื่อเข้าถึงยุคสมัยที่มีโทรศัพท์มือถือใช้บนโลกใบนี้ ในยุคแรกสุดนั้นเรายังไม่ได้มีการกำหนดว่านั่นเป็นยุค 1G แต่อย่างใด แต่เราได้กำหนดคำนี้ขึ้นเมื่อเริ่มมีการพัฒนาในวงการเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลผ่านโทรศัพท์มือถือผ่านมาได้ถึงยุค 3G แล้วนั่นเอง โดย ในรุ่นแรกๆ นี้ หลายคนอาจจะเคยผ่านตามาบ้างกับโทรศัพท์มือถือร่างยักษ์ที่มีปุ่มกดนูนๆกับเสาอากาศใหญ่โตที่ทำได้เพียงโทรเข้า-ออก รับสาย ซึ่งเป็นการใช้ เทคโนโลยีการสื่อสารแบบ Analog ได้รับการพัฒนาเป็นครั้งแรกในเครือข่ายโทรศัพท์ NTT ของประเทศญี่ปุ่นและมีการใช้ครั้งแรกที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1979 ก่อนจะเริ่มแพร่หลายใช้ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น และเข้ามาสู่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (ยุโรปตอนเหนือ) ในปี 1981

สำหรับเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ Analog นี้ จะใช้ระบบพื้นฐานการส่งสัญญาณแบบ FDMA (Frequency Division Multiple Access) หลักในการทำงานคือ การแบ่งช่องความถี่ออกเป็นความถี่ย่อยหลายๆ ช่อง บนความถี่ที่ 824-894 MHz แล้วใช้สัญญาณวิทยุในการส่งคลื่นเสียงไปยังสถานีรับส่งสัญญาณ หนึ่งคลื่นความถี่เท่ากับหนึ่งช่องสัญญาณ ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในเวลานั้นจะสามารถใช้การบริการโทรศัพท์ได้เฉพาะในช่องความถี่ที่ว่างอยู่ และหลังจากที่มีผู้ใช้งานมากขึ้น ระบบก็ไม่สามารถรองรับสัญญาณได้ จึงทำให้การส่งสัญญาณแบบ FDMA ไม่เป็นที่นิยมและเกิดการพัฒนาเข้าสู่ยุคต่อไป

ในยุค 1G นี้ ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ Analog นี้ ทำให้โทรศัพท์มือถือในยุคนั้นไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ความสามารถหลักๆ คือการใช้งานในเรื่องของเสียง (Voice) เท่านั้น คือรองรับเพียงการ โทรเข้า และรับสาย ยังไม่รองรับการส่งหรือรับ Data ใดๆ แม้แต่จะส่ง SMS ก็ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งในยุคนั้นผู้คนก็ยังไม่มีความจำเป็นในการใช้งานอื่นๆ นอกจากการโทรเข้าออกอยู่แล้ว และกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่สามารถใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในเวลานั้น เป็นผู้มีฐานะหรือนักธุรกิจที่ใช้ติดต่องาน เนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเวลานั้นมีราคาสูงมาก

การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุค 1G

โทรออก / รับสาย

ไม่รองรับผู้ใช้งานในจำนวนมาก

เกิดการดักฟังโทรศัพท์ได้ง่ายและไม่ปลอดภัย

2G

พอมาถึงในยุค 2G เริ่มมีการพัฒนารูปแบบการส่งคลื่นเสียงแบบ Analog มาเป็น Digital โดยการเข้ารหัส โดยส่งคลื่นเสียงมาทางคลื่นไมโครเวฟ โดยการเข้ารหัสเป็นแบบดิจิตอลนี้ จะช่วยในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานมากยิ่งขึ้น และช่วยในเรื่องของสัญญาณเสียงที่ใช้ติดต่อสื่อสารให้มีความคมชัดมากขึ้นด้วย โดยมีเทคโนโลยีการเข้าถึงช่องสัญญาณของผู้ใช้เป็นลักษณะเชิงผสมระหว่าง FDMA และ TDMA (Time Division Multiple Access) เป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารทำให้รองรับปริมาณผู้ใช้งานที่มีมากขึ้นได้

เราจะเห็นว่าในยุค 2G นี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชัดเจน ผู้คนหันมาใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กันมากขึ้น เนื่องจากเกิดการพัฒนาโทรศัพท์กันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีการแข่งขันในวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น และทำให้ราคาเครื่องถูกลงนั่นเอง ในยุคนี้ ถือเป็นยุคที่เฟื่องฟูของวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงตอนปลาย จึงทำให้สามารถแบ่งยุค 2G ออกได้อีก 2 ช่วงคือ 2.5G และ 2.75G

Write a Comment