สมาร์ทโฟน (Smartphones) ต่อจากนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?
กว่า Smartphones จะดำเนินมาถึงตอนนี้ ก็ผ่านการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และเพิ่มเติมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง จนถึงตอนนี้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์เป็นสมาร์ทโฟนกันหมดแล้ว และมีทีท่าว่าการเติบโตของปริมาณก็เริ่มลดลง เพราะว่าตลาดเริ่มจะอิ่มตัวกันแล้วในสถานการณ์ตอนนี้ เราได้วิเคราะห์พร้อมทั้งนำเสนอทิศทางของการพัฒนาสมาร์ทโฟน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในอีก 1-3 ปีที่จะถึงนี้ ว่ามือถือรุ่นใหม่ๆ ที่จะออกมาในตลาดจะมีเทคโนโลยีอะไรแปลกใหม่ออกมาให้เราตื่นเต้น รวมถึงเทรนด์ของสมาร์ทโฟนที่จะเปลี่ยนไปจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
ในยุคแรกๆ ของสมาร์ทโฟน เราจะเห็นได้ว่ามีขนาดของหน้าจอออกมาเยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะในระบบของ Android นั้น เยอะมากขนาดที่ว่านักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือมีอันต้องปวดหัว เพราะต้องพัฒนาแอพฯ ให้แสดงผลได้ในหลากหลายขนาดหน้าจอ จนมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าขนาดความละเอียดของหน้าจอหลักในท้องตลาดจะเหลืออยู่เพียงแค่ไม่กี่ขนาด อย่างของฝั่ง Android นั้น ถึงจะมีขนาดใหญ่ต่างกัน แต่ความละเอียดของหน้าจอก็จะมีหลักๆ เพียงแค่ HD (720 x 1280 พิกเซล) และ Full HD (1080 x 1920) อาจจะมีแตกต่างไปบ้างอย่าง QHD (1440 x 2560 พิกเซล) ในสมาร์ทโฟนระดับเรือธงของ Samsung, Huawei, LG และ HTC บางรุ่น รวมถึงจะมีระดับ 4K ของ Sony Xperia บางรุ่น
ถึงแม้ว่าความละเอียดจะต่างกัน หรือขนาดต่างกัน แต่ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วมีขนาด “อัตราส่วน” ของจออยู่ที่ 16:9 ทั้งหมด ส่วนของฝั่ง iPhone นั้นก็จะมีแค่ 2 ขนาดคือ 750 x 1334 พิกเซล สำหรับ iPhone รุ่นขนาดจอ 4.7 นิ้ว และ 1080 x 1920 พิกเซล ใน iPhone รุ่นจอขนาด 5.5 นิ้ว (ซึ่งจะเห็นว่าเป็นสัดส่วน 16:9 เช่นกัน)
แต่พอมาในปี 2017 นี้ Samsung เริ่มเปิดตลาดหน้าจอขนาดใหม่บน Galaxy S8 และ S8+ ที่ใช้เป็นหน้าจอแบบ Infinity Display ที่มีความละเอียดหน้าจอแบบ QHD+ อยู่ที่ 1440 x 2960 พิกเซล ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ ก็คือหน้าจอกว้างเท่า QHD เดิม แต่เพิ่มความยาวไปอีก ทำให้จากเดิมหน้าจอสัดส่วน 16:9 กลายเป็น 18.5:9 แทน ซึ่งการออกแบบหน้าจอนี้ นอกจากจะได้เรื่องของความสวยงามที่หน้าจอเต็ม panel ด้านหน้าแล้ว ยังทำให้มีพื้นที่แสดงผลแทนปุ่มโฮมที่อยู่ด้านล่างเดิม ทำให้ใช้งานในการอ่านหน้าจอต่อเนื่องยาวๆ ได้มากกว่าเดิม
และตอนนี้ก็มีข่าวลือเกี่ยวกับ สมาร์ทโฟน อีกหลายๆ รุ่นที่จะทำออกมาหน้าจอขนาดไม่เป็น 16:9 อีกแล้ว อย่างเช่น LG และ Sony หรือแม้แต่ Apple เอง ตัว iPhone 8 ที่มีข้อมูลหลุดออกมา หน้าจอนั้นมีความแปลกประหลาดทั้งเรื่องขนาดสัดส่วน แถมยังมีเว้าตรงกลางด้านบนอีก เพราะว่าหลังจากนี้ผู้ผลิตจะเน้นเรื่องของการออกแบบตัวเครื่องให้มีความสวยงามและฉีกจากรูปแบบเดิมๆ ที่มีมา เพื่อสร้างสมาร์ทโฟนยุคต่อไปให้ผู้ใช้มีความรู้สึกอยากเปลี่ยนไปใช้ของที่ดูสมัยใหม่กว่าเดิม และแตกต่างจากเดิมที่เคยใช้มาก่อน
เทคโนโลยีหน้าจอแบบ OLED นั้น ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และล้ำไปถึงขั้นที่ว่าไม่ใช่เพียงแค่บางหรือให้สีสันสวยสดเท่านั้น แต่มันจะมีความ Flexible ในระดับที่ว่าสามารถ “พับงอได้” เรื่องนี้ผู้ผลิตจอชั้นนำของโลกทั้ง Samsung และ LG เผยต้นแบบเทคโนโลยีมาหลายปีแล้ว และมีความเป็นไปได้สูงมากที่เร็วๆ นี้ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตที่หน้าจอสามารถพับได้จะถูกผลิตออกมาวางขายจริงในท้องตลาด ซึ่งคราวนี้จะเป็นการปฎิวัติรูปแบบของการออกแบบทั้งตัวเครื่อง และหน้าตาระบบปฏิบัติการที่สอดคล้องกับหน้าจอแบบใหม่นี้ เราชื่อว่ารายแรกที่จะทำสมาร์ทโฟนจอพับได้ออกมาคือ “Samsung” และหลังจากนั้นจะมีสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์อีกหลายแบรนด์ทยอยผลิตตามออกมาภายใน 2-3 ปี แต่เชื่อได้เลยว่าคุณจะไม่ได้เห็น iPhone ที่หน้าจอพับได้อย่างแน่นอน
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นถ้าหากสมาร์ทโฟน สามารถพับหน้าจอได้ คือ ตัวเครื่องจะถูกออกแบบให้มีขนาดที่เล็กลงกว่าเดิม (แต่อาจจะหนาขึ้น) แต่ว่ามีหน้าจอที่ใหญ่กว่าเดิม แต่ว่าการพัฒนาสมาร์ทโฟนจอพับได้นั้น จะต้องพึ่งพาการพัฒนาเรื่อง แบตเตอรี่ ควบคู่ไปด้วย เพราะจอที่ใหญ่ขึ้นก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้น รวมถึงเมื่อเครื่องต้องพับได้ การออกแบบบอร์ดและตำแหน่งรวมถึงพื้นที่สำหรับติดตั้งแบตเตอรี่ก็จะมีน้อยลงด้วยเช่นกัน
ถ้าเทียบเรื่องความเร็วของชิปประมวลผลสมาร์ทโฟนตอนนี้ มีประสิทธิภาพได้ทัดเทียมกับคอมพิวเตอร์เมื่อหลายปีก่อนได้แล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าในอนาคตมันจเแรงขึ้นไปอีกเพื่อไล่ตามคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับตรงกันข้าม เพราะในยุคต่อไป ชิปประมวลผลจะมีความแรงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่สิ่งที่จะถูกพัฒนาจริงๆ คือเรื่องของการประหยัดพลังงาน
ตอนนี้ทั้ง Samsung และ Qualcomm ที่เป็นผู้ผลิตชิปประมวลผลบนสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในตลาด ยังคงเดินหน้าพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี ให้มีขนาดที่เล็กลงอย่างต่อเนื่อง จากในอดีตที่เคยผลิตกันในระดับ 20 nm ปัจจุบัน Samsung ทำได้ถึงระดับ 10 nm และกำลังเร่งให้ผลิตได้ถึงระดับ 7 และ 6 nm ยิ่งสามารถผลิตด้วยเทคโนโลยีที่มีขนาดเล็กลง สิ่งที่ได้มาก็คือการประหยัดพลังงานในการใช้งาน และขนาดของบอร์ดก็จะเล็กลงไปด้วย ส่วนเรื่องความแรงนั้นปัจจุบันถือว่าเร็วในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับการใช้งานเกือบทุกด้านแล้ว ทั้งการทำงานทั่วไปจนถึงการเล่นเกมกราฟฟิคสูงๆ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเร็วให้มากขึ้นไปอีก แต่ไปเน้นปรับจูนส่วนประกอบอื่นเพื่อให้ทำงานได้ไหลลื่นมากกว่าเดิม
ถ้าสังเกตช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะมีขนาดความจุของแบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 3,000-3,500 mAh แต่ก็จะมีบางรุ่นที่ทำออกมาเพื่อเน้นตอบโจทย์คนต้องการใช้งานหนักๆ ที่จะให้มาถึง 5,000 mAh จะเห็นได้ว่าความจุอยู่ราวๆ นี้ไม่เพิ่มขึ้นแล้ว เพราะว่าติดในเรื่องข้อจำกัดเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบลิเธียม ยิ่งมีขนาดความจุที่ใหญ่ก็ต้องใช้เวลาในการชาร์จที่นาน รวมถึงเรื่องของความร้อน ฯลฯ
ส่วนเรื่องที่ว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่จะเปลี่ยนไปใช้เป็นแบบอื่นนั้น ก็น่าจะไม่สามารถทำเป็นสินค้าจริงได้ในเร็วๆ นี้ นั่นคือสมาร์ทโฟนจะต้องอยู่กับแบตเตอรี่แบบลิเธียมไปอีกพักใหญ่ แต่สิ่งที่พอจะทำให้แบตเตอรี่ความจุเท่าเดิม แต่ใช้งานได้นานมากขึ้น คือการทำให้ระบบใช้พลังงานน้อยลง หลายปีที่ผ่านมาระบบปฎิบัติการทั้ง Android และ iOS พัฒนาให้ใช้พลังงานน้อยลงกว่าเดิม ตัวชิปเซตต่างๆ ก็ผลิตด้วยนาโนเทคโนโลยีที่เล็กลง รวมถึงมีการพัฒนาระบบการชาร์จเร็วเข้ามาช่วย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อายุการใช้งานของสมาร์ทโฟนยาวนานได้มากกว่าเดิม
จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายในปี 2018 เพราะว่าทาง Qualcomm ได้เผยเทคโนโลยีการสแกนลายนิ้วมือด้วยคลื่นอัลตราโซนิค ที่ทำให้สามารถสแกนลายนิ้วมือผ่านหน้าจอ OLED หรือตัวโลหะบนเครื่องได้เลย เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเว้นพื้นที่เพื่อใส่ปุ่มเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ที่ตอนนี้มักจะอยู่ที่ด้านล่างจอเป็นปุ่ม Home ไม่ก็ย้ายเอาไปไว้ที่ด้านหลังของเครื่อง
ในงานเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ ทาง vivo ได้โชว์เครื่องต้นแบบและนำเสนอระบบนี้สำหรับสมาร์ทโฟนของตัวเอง คาดว่าจะพร้อมผลิตออกมาในตลาดกันในปีหน้านี้ สอดคล้องกับการออกแบบสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในปีนี้ ที่ปรับหน้าจอให้ใหญ่เต็มพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรอรับเทคโนโลยีใหม่นี้ในปีต่อไป
ความละเอียดในกล้องของสมาร์ทโฟนนั้น จะเห็นได้ว่าตอนนี้มาหยุดอยู่ที่ 21 ล้านพิกเซล และส่วนใหญ่จะเลือกใช้เซนเซอร์กันเต็มที่ก็ 16 ล้านพิกเซลเท่านั้น หลังจากนี้เทรนด์ของกล้องบนสมาร์ทโฟนจะไม่ได้เน้นเรื่องของความละเอียดสูงๆ แต่ตรงกันข้ามจะลดลงแต่เพิ่มเรื่องการประมวลผลและเทคโนโลยีให้ภาพที่ได้มีความสวยงามมากขึ้น อย่างในกล้องของ Samsung นั้นเริ่มมาใช้แบบ Dual Pixel ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ที่มาเน้นเรื่องความคมชัดและเก็บแสงในที่มืดได้ดี
รวมถึงในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่กล้องของสมาร์ทโฟน จะมีหน่วยประมวลผลแยกต่างหากจากตัวชิปเซตหลักของเครื่อง ทำหน้าที่จัดการด้านภาพถ่ายและวิดีโอเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้ภาพถ่ายในระดับคุณภาพสูงใกล้เคียงกับกล้องระดับโปรมายิ่งกว่าเดิม
2 ปีที่ผ่านมา Huawei คือผู้ที่ปลุกเอาเทคโนโลยีกล้องแบบเลนส์คู่บนสมาร์ทโฟน ให้กลับมาเป็นที่นิยมจนกลายเป็นเทรนด์ของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ที่ใช้การประมวลผลของเซนเซอร์ภาพ 2 ตัว (RGB+Monochrome) มาทำให้ได้ภาพๆ เดียวที่มีความสวยงาม ทั้งเรื่องความคมชัด, สีสัน การจำลองภาพระยะชัดลึกชัดตื้น และยังมีกล้องเลนส์คู่แบบ Wide+Tele ที่ทำให้จำลองภาพซูมในระยะ 2-3 เท่าได้คมชัดเหมือนซูมด้วยเลนส์
แต่สิ่งที่ต้องแลกมากับเทคโนโลยีนี้ก็คือ ด้านหลังที่ต้องมีเลนส์ 2 ชุด ที่ดูแล้วไม่สวยงาม (ไม่นับเรื่องความนูนของชุดเลนส์) ทำให้สุดท้ายการออกแบบเครื่องให้มีความบางโค้งมน วัสดุเพรีเมี่ยม แต่ต้องมาตายที่แถบชุดเลนส์กล้องที่ใหญ่เทอะทะ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า การพัฒนากล้องสมาร์ทโฟนในอนาคต จะไม่ใช่การเพิ่มเซนเซอร์อะไรเข้าไปให้รกรุงรัง แต่จะลดให้กลับไปเป็นกล้องเลนส์เดียวเหมือนเดิม แต่สามารถทำได้เหมือนใช้กล้องแบบ 2 เลนส์ได้แทน แต่คาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาหลายปีพอสมควรจึงจะทำได้
Virtual Reality นั้น เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาหลายปี สำหรับวงการเกมนั้นเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่กับทางฝั่งสมาร์ทโฟนนั้น จะเห็นได้เลยว่าปีที่ผ่านมาเริ่มซบเซาลง โดยจะเห็นมีเพียงแค่ Samsung กับ Google เท่านั้นที่ยังผลักดันเทคโนโลยีนี้ต่อไป เพราะด้วยขีดจำกัดทั้งด้านฮาร์ดแวร์ที่ยังแรงไม่เพียงพอ หน้าจอที่ความละเอียดน้อยเกินไป ที่สำคัญคือคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มนี้ เติบโตค่อนข้างช้า และไม่มีแรงดึงดูดให้ทั้ผู้ใช้และผู้พัฒนาหันมาสนใจเท่าที่ควร
แต่สิ่งที่น่าจะขึ้นมาเป็นกระแสต่อจากนี้คือ Augmented Reality เพราะที่ผ่านมา ทั้งแอพฯ แต่งภาพแฟนซีแบบ Toy Camera อาทิ Snow, SnapChat ฯลฯ ได้รับความนิยมและมีออกมาในตลาดเป็นจำนวนมาก แถมล่าสุด Apple เองออกตัวผลักดันถึงขั้นเปิดชุดพัฒนาการทำ AR บน iOS เพื่อรองรับใน iOS 11 ที่จะออกปลายปีนี้ อีกทั้งการพัฒนาคอนเทนต์แบบ AR นั้น ใช้ทรัพยากรและต้นทุน ทั้งเรื่องฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์น้อยกว่า VR ค่อนข้างมาก มีความเป็นไปได้ว่าตั้งแต่ปี 2018 เราจะเริ่มได้เห็นแอพแบบ AR เติบโตมากขึ้น
ปัจจุบันเราจะเห็นว่า ความจุบนสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ 256 GB แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว จะมีขนาดอยู่ที่ 32-64 GB หลายคนอาจจะคิดว่าต่อไปเราจะมีสมาร์ทโฟนความจุเพิ่มขึ้นไปจนถึง 1 TB แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปได้ยากมาก เพราะต้นทุนความจุระดับสูงนั้นยังก้าวกระโดดมาก และในอนาคตความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ความจุภายในเครื่องจะค่อยๆ ลดลง
ถึงแม้ว่าขนาดของแอพในปัจจุบันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก แต่สิ่งที่มาช่วยบริหารจัดการให้ความจุในเครื่องเพียงพอกับการใช้งานตลอดเวลาก็คือ Cloud ที่มาช่วยในเรื่องการเก็บข้อมูลออกจากเครื่องที่ไม่ค่อยได้ใช้งานออกจากเครื่องไปสำรองเก็บไว้ ทำให้มีพื้นที่ในเครื่องเหลือมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่สมาร์ทโฟนจะต้องมีความจุสูงสุดไปจนถึง 1 TB แต่เชื่อว่าความจุในระยะเริ่มต้นจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 32 GB ภายใน 1-2 ปี และจะไม่มีรุ่นความจุ 16 GB อีกต่อไป เพราะต้นทุนความจุแบบ flash ขนาดเล็กน่าจะลดลงกว่าในปัจจุบันพอสมควร
ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์กับเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนโฉมสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้ล้ำสมัยกว่าที่ผ่านๆ มา และตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น Samsung Galaxy Note 8, iPhone 8 ฯลฯ น่าจะแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของมือถือยุคต่อไป ว่าจะมีอะไรน่าตื่นเต้นรอเราอยู่
Write a Comment