Android ช้า ไม่เสถียรเท่า iOS จริงหรือ? ::
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ปัจจุบันระบบปฏิบัติการมือถือ หรือ OS ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งาน หลักๆ จะมีอยู่ทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ Android และ iOS ซึ่งแม้ว่าระบบปฏิบัติการต่างค่ายนี้จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป แต่หนึ่งในประเด็นที่หลายฝ่ายมักจะหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่เป็นประจำนั่นก็คือ ความลื่นไหลที่แตกต่างกัน ซึ่งบางฝ่ายมองว่า Android เป็นระบบปฏิบัติการที่ช้า ไม่เสถียร เท่ากับ iOS แต่เรื่องนี้เป็นความจริงหรือ? เราไปหาคำตอบกันดีกว่าครับ
เรื่องนี้มีทั้งจริง และไม่จริง ภาพจำของมือถือ Android ในยุคหลายปีก่อนสำหรับใครหลายคนน่าจะเป็นผลมาจากความหน่วงของหน้า UI ซึ่งก็เป็นผลมาจากสถาปัตยกรรม และวิธีการทำงานของทั้งสองระบบปฏิบัติการนี้ถูกเขียนขึ้นมาต่างกัน โดย Dianne Heckborn หนึ่งในวิศวกรของ Google เปิดเผยให้ทราบถึงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่า Android ช้ากว่า iOS โดยอธิบายว่า ในระบบปฏิบัติการ Android ยุคก่อนๆ จะมีส่วนที่เรียกว่า Hardware Acceleration ที่จะใช้ฮาร์ดแวร์ทั้ง GPU และ CPU ในการประมวลผลส่วนต่างๆ เกี่ยวกับหน้า UI เช่น การเรนเดอร์แถบแจ้งเตือน หรือหน้า Pop-up เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่กระบวนการนี้ใช้ RAM ค่อนข้างข้างเยอะ และใช้พลังในการประมวลผลของฮาร์ดแวร์ที่เยอะตามไปด้วย
Andrew Munn อดีตพนักงานฝึกงานที่ Google ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ระบบเรนเดอร์หน้า UI ของ Android จะถูกประมวลผลพร้อมกันใน Thread หลักที่ใช้ในการประมวลผลการทำงานของแอปพลิเคชัน และถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Nomal Priority หรือเป็นงานที่ไม่สำคัญมาก ซึ่งหมายความว่าหากฮาร์ดแวร์ไม่แรงพอ ก็อาจทำให้เครื่องหน่วงไปหมด
การทำงานของ Android ในยุคก่อนค่อนข้างจะต่างกันระบบ iOS ที่มี Thread แยกสำหรับเรนเดอร์หน้า UI โดยเฉพาะ และให้ความสำคัญกับการเรนเดอร์ UI ในระดับสูงสุด เพื่อเรนเดอร์แบบเรียลไทม์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเราสัมผัสหน้าจอ ระบบจะจะสั่งให้ทุกอย่างที่ไม่สำคัญหยุดทำงาน เพื่อประมวลผลระบบ UI ก่อน เพื่อให้การใช้งานดูลื่นไหล
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ทำให้ Android ดูช้ากว่า iOS ก็คือความหลากหลายของฮาร์ดแวร์ เพราะต้องไม่ลืมว่ามือถือ Android นั้นไม่ได้มีเพียงแค่รุ่นสองรุ่น แถมแต่ละรุ่นก็มีความแตกต่างกันออกไปในเรื่องของ ขนาดหน้าจอ, ชิปเซ็ตประมวลผล, RAM และเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการ ซึ่งหากมีการเขียนแอปพลิเคชันออกมาไม่ซัพพอร์ตดีพอ ก็อาจทำให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
แต่ในปัจจุบันฮาร์ดแวร์ของฝั่ง Android ไปไกลกว่าเดิมมาก แถมปัญหาด้านซอฟท์แวร์ที่เคยเกิดขึ้นบน Android ยุคเก่าๆ ก็ได้รับการปรับปรุงให้ทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง Custom UI ของมือถือแบรนด์ต่างๆ ก็มีการปรับแต่งให้ทำงานร่วมกับมือถือของตนเองได้อย่างเต็มที่ ทำให้ความหน่วง หรือความช้าของระบบ Android ที่เราเคยประสบพบเจอเมื่อหลายปีก่อน ได้ถูกแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์ในยุคก่อน รวมถึงภาษาที่ใช้เขียนแอปฯ ในยุคเก่า มีผลต่อการทำงานของระบบปฏิบัติการ Android มากเลยทีเดียว
หากเราดูผลทดสอบในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า แม้จะเป็น Android รุ่นระดับกลางอย่าง Redmi Note 9 ก็สามารถเปิดแอปพลิเคชันทั่วไปได้รวดเร็วไม่ต่างกับ iPhone ตัวท็อปมากนัก (ยกเว้นแอปพลิเคชันที่ต้องใช้พลังงานในการประมวลผลสูงอย่างเช่น เกม ที่เทียบกันไม่ได้อยู่แล้วหากชิปเซ็ตประมวลผลอยู่ในระดับที่ต่างกัน) ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่า สมาร์ทโฟนปัจจุบันได้พัฒนาจนพ้นข้อจำกัดทางด้านฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นสำหรับรันระบบปฏิบัติการให้ลื่นไหลได้เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง
คำว่า “เสถียร” ของใครหลายคนส่วนใหญ่น่าจะหมายถึง ความรู้สึกในเชิงความลื่นไหลในการเปิด-ปิด แอป หรืออัตราการเกิดแอปฯ ค้าง ฯลฯ ซึ่ง Android ก็ได้มีการแก้ไขมาโดยตลอด และด้วยการที่ฮาร์ดแวร์ของมือถือยุคปัจจุบันมีความแรงขึ้น ปัญหาเหล่านี้ก็เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ และหากเราลองย้อนกลับไปดูผลสำรวจเมื่อ 4 ปีที่แล้วจะพบว่าจริงๆ แล้ว แอปฯ Android มีปัญหาแอปเด้งเพียง 25% ขณะที่ iOS มีปัญหาแอปฯ เด้งมากถึง 65% โดยทางผู้วิจัยอย่าง Blacncco Technology Group พบว่า ปัญหาที่ทำให้แอปฯ เด้ง ไม่ได้เกิดจากฮาร์ดแวร์ แต่เป็นผลมาจากซอฟท์แวร์ของตัวแอปฯ รวมถึงซอฟท์แวร์ของระบบปฏิบัติการ ซึ่งหมายความว่า iOS และ Android ก็มีโอกาสเกิดปัญหาด้านการใช้งานทั้งคู่ ดังนั้นจึงอาจไม่สามารถกล่าวได้ว่า ระบบปฏิบัติการใดเสถียรกว่ากัน
แต่สิ่งที่ทำให้ Android ดูจะเหมือนจะเสียเปรียบ iOS จริงๆ ในยุคปัจจุบันก็คือ การอัปเดต เพราะขั้นตอนการอัปเดตซอฟท์แวร์ของ Android จะขึ้นอยู่กับแบรนด์ผู้ผลิตเป็นหลัก ซึ่งผู้ผลิตส่วนมากก็มักจะปล่อยอัปเดตให้เฉพาะมือถือรุ่นเด่น หรือมือถือรุ่นเรือธงเท่านั้น ต่างจากระบบ iOS ที่เน้นปล่อยให้อัปเดตให้กับ iPhone ทุกรุ่นจนกว่าฮาร์ดแวร์จะไปไม่ไหว ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนมองประเด็นด้านการอัปเดตเป็นตัวชี้วัดด้านความเสถียร แต่อย่างไรก็ดี การอัปเดตซอฟท์แวร์ใหม่โดยตลอดอาจไม่ได้ทำเครื่องเร็วขึ้นเสมอไป เพราะในบางครั้งตัวระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ก็อาจมี Bug บางอย่างที่ส่งผลให้การทำงานช้าลงด้วย หรือในบางครั้งก็ถูกพัฒนาออกมาไม่สอดคล้องกับฮาร์ดแวร์ในรุ่นเก่า ซึ่งสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากกว่าคือ การอัปเดตแพทซ์ด้านความปลอดภัย เพราะหากมือถือเรามีช่องโหว่เพียงเล็กน้อย ผู้ไม่ประสงค์ดีก็อาจใช้จุดนี้ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราได้อย่างง่ายดาย
จะเห็นได้ว่าทั้ง Android และ iOS ถูกพัฒนามาไกลเป็นอย่างมาก และก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ส่วนระบบไหนจะดีกว่ากันนั้นคงไม่สามารถตัดสินได้ เพราะส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคลของผู้ใช้งานด้วย หากทดลองใช้งานแล้วถูกใจ สามารถตอบโจทย์การทำงานในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว ระบบปฏิบัติการนั้นๆ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกท่านครับ
Write a Comment