จากสตาร์ทอัพ สู่สมาร์ทโฟนแห่งปี เส้นทางมือถืออินดี้ OnePlus

ชื่อเสียงอาจไม่ใช่แบรนด์ที่โด่งดังที่สุดในโลก แต่สิ่งที่น่าตะลึงคือจำนวนยอดขายที่สูงจนน่าตกใจ โดยสมาร์ทโฟนรุ่น OnePlus 8 มียอดขายสูงที่สุดในประเทศอินเดีย โดยได้ส่วนแบ่งการตลาดถึง 19% มากกว่าซัมซุง และไอโฟนทุกรุ่น

นอกจากนั้น เว็บไซต์ ที่เป็นสื่อมวลชนที่วิจารณ์ฟังก์ชั่นของมือถืออย่างตรงไปตรงมา ได้ยกย่องว่า โทรศัพท์ OnePlus 8 Pro เป็น “The Best Premium Phone” หรือโทรศัพท์ระดับพรีเมี่ยมที่ยอดเยี่ยมที่สุดประจำปี 2020

ยอดขาย และการรีวิวที่ดีขนาดนี้ ทำให้คนที่ไม่เคยใช้มาก่อน ต่างตั้งคำถามว่า OnePlus เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงผลิตโทรศัพท์คุณภาพเกรดเอขนาดนี้สู่ตลาดได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มเปิดบริษัทได้ไม่นานนัก

จุดเริ่มต้นของ OnePlus เกิดจากชายที่ชื่อ พีท เหลา เขาเกิดที่มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เขาเข้าทำงานในบริษัทมือถือ OPPO ในตำแหน่งวิศวกรฮาร์ดแวร์ ก่อนจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ จนไปสูงสุดที่ ตำแหน่งรองประธานบริษัท ตอนมีอายุแค่ 38 ปีเท่านั้น

ในขณะนั้นเขามีลูกน้องคนสนิทชื่อ คาร์ล เป่ย โดยคาร์ลถือเป็นอัจฉริยะอายุน้อย ตอนแรกเขาศึกษาปริญญาโทอยู่ที่สวีเดน แต่พีท เหลา ดึงตัวมาร่วมงานด้วยกับทีมในเดือนพฤศจิกายนปี 2012

หลังจากทำงานได้สักระยะ จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของพีท เหลา เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2013 ในวันธรรมดาวันหนึ่ง ที่เขานั่งดื่มกาแฟกับเพื่อนๆ พนักงานในบริษัท

“จุดเริ่มต้นที่เราคิดอยากสร้างบริษัทสมาร์ทโฟน เกิดขึ้นตอนเรานั่งคุยกันที่โต๊ะกาแฟ ผมสังเกตขึ้นมาว่าทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือของไอโฟนหมดเลย ซึ่งผมเองก็แปลกใจ เพราะเราก็ทำงานในที่ผลิตมือถือแท้ๆ แต่ทำไมเรายังเลือกใช้ไอโฟนอยู่” พีท เหลา ย้อนอดีต

ซึ่งจุดนั้น พีท เหลา ก็ได้คำตอบ เพราะไอโฟนเป็นบริษัทผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ในตลาด ดังนั้นใครๆ ก็อยากใช้ของที่มีคุณภาพที่สุดกันทั้งนั้น เมื่อคิดได้ดังนั้น พีท เหลา ค่อยๆ แตกย่อยความคิดออกมา ว่าขนาดไอโฟนมีราคาแพงขนาดนั้น ผู้คนก็ยังยอมจ่ายเงินซื้อ ดังนั้นถ้าเขาสามารถผลิตสมาร์ทโฟนที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน แต่มีราคาถูกกว่า ก็น่าจะมียอดขายที่ดีได้เช่นเดียวกัน

เมื่อคิดได้ดังนั้น พีท เหลา จึงพิจารณาดูองค์ประกอบแล้วเห็นว่า OPPO เป็นบริษัทใหญ่ที่ผลิตโปรดักต์มากมาย ทั้งโทรศัพท์มือถือ, โฮมเธียเตอร์ รวมถึงเครื่องเสียงหลายรูปแบบ ซึ่ง พีท เหลา ต้องการโฟกัสไปที่สมาร์ทโฟนอย่างเดียว ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2013 เขาจึงชวนลูกน้องคนสนิท คาร์ล เป่ย ที่อายุแค่ 24 ปี และลูกทีมอีก 3 คน ให้ลาออกจาก OPPO แล้วมาก่อตั้งบริษัทของตัวเองที่ชื่อ OnePlus

“จุดมุ่งหมายของเราคือผลิตโทรศัพท์คุณภาพทัดเทียมกับอันดับ 1 ในตลาด แต่มีราคาถูกกว่า” พีท เหลา เผย

สำหรับชื่อของ OnePlus นั้นมาจากไอเดียที่ว่า คนหนึ่งคน (one) ได้ลองใช้มือถือ จากนั้นรู้สึกใช้ดี จนบอกต่อให้อีกคน บวกไปอีก 1 (Plus) หนึ่งบวกหนึ่งบวกหนึ่ง ไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งพีท เหลา และ คาร์ล เป่ย รู้ดีว่าไม่มีงบประมาณในการโฆษณามากเท่ากับซัมซุง หรือแอปเปิ้ล ดังนั้นพวกเขาจึงตั้งใจจะผลิตโทรศัพท์ที่ดีที่สุด และใช้พลังของการ “บอกต่อ” เพื่อขยายฐานคนซื้อให้เพิ่มมากขึ้น

“ถ้าคุณมีเงิน 2 พันหยวน คุณสามารถซื้อสมาร์ทโฟนได้นะ แต่ไม่มีรุ่นไหนที่ผมคิดว่า มีมาตรฐานดีพอ ดังนั้นผมจึงเห็นช่องว่างของตลาดตรงนี้ ใครๆ ก็อยากได้สมาร์ทโฟนในราคาที่ตัวเองเอื้อมถึง”

หลังจากใช้เวลาผลิตอยู่ 6 เดือน ลองผิดลองถูกมาหลายหน ในที่สุดโทรศัพท์รุ่นแรกของแบรนด์ก็เปิดตัวในเดือนเมษายน ปี 2014 ในชื่อรุ่น OnePlus One

โดยความประหลาดของรุ่นนี้ก็คือ ไม่มีการเปิดขายในทันที แต่ได้จัดกิจกรรมร่วมสนุก หาผู้โชคดีที่จะได้โทรศัพท์ OnePlus และผู้โชคดีเหล่านั้นเมื่อได้เครื่องแล้ว ก็จะส่ง Invite เชิญเพื่อนได้ 3 คนให้ไปซื้อในระบบออนไลน์

ด้วยความหาซื้อยากมาก ทำให้ OnePlus One กลายเป็นสมาร์ทโฟนแรร์ไอเทม ที่ใครๆ ก็อยากได้มาลองใช้เพื่อพิสูจน์ว่ามันจะแน่แค่ไหน

สเป็กของ OnePlus One นั้น อัดแน่นไปด้วยคุณภาพสูงสุด เช่น กล้องหลัก 13 ล้านพิกเซล พร้อมแฟลช LED คู่ ถ่ายวีดีโอ 4K มีอ็อปชั่น Time Lapse ส่วนกล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล แบตเตอรี่ความจุ 3100 mAh

คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม กับในราคาที่น้อยกว่าแบรนด์อื่น 1 เท่าตัว ซึ่งพอมีการเปิดขายอย่างเป็นทางการ ทำให้ยอดขายของรุ่นนี้พุ่งทะยานไปที่ 1.5 ล้านเครื่องในปีเดียว ทั้งๆ ที่บริษัทตั้งเป้าเอาไว้ แค่ 50,000 เครื่องเท่านั้น

ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น แต่อีกตลาดที่บูมมากๆ อย่างน่าเซอร์ไพรส์คือในอินเดีย แบรนด์ OnePlus เข้าตลาดอินเดียในเดือนธันวาคม ปี 2014 และขายได้อย่างถล่มทลายตั้งแต่เดือนแรก

“จุดเด่นของ OnePlus คือความเรียบง่าย” สื่อมวลชนในอินเดียกล่าวชื่นชม “มือถือยี่ห้ออื่นๆ จะเปิดตัวปีละ 5-6 รุ่น แต่ OnePlus จะเปิดตัวปีละรุ่น ด้วยเทคโนโลยีดีที่สุดที่ตัวเองมีตอนนั้น ด้วยราคาที่ถูกกว่าตัวแฟล็กชิพของแอปเปิ้ลกับซัมซุงเกินกว่าครึ่ง ดังนั้นจึงทำให้ได้รับความนิยมสูงมากๆ ในอินเดีย”

สำหรับพีท เหลา เขายอมรับว่าคนทำธุรกิจสตาร์ทอัพ เป้าหมายแรกสุดคือ “ต้องอยู่รอดให้ได้ก่อน” ซึ่งพอปล่อยมือถือรุ่นแรกไปแล้ว ได้รับการตอบรับดี สามารถอยู่รอดได้ในธุรกิจสมาร์ทโฟน ทำให้เขาพร้อมจะเดินหน้าต่อไป

หลังเปิดตัวบริษัทมาแค่ 3 ปีเท่านั้น OnePlus มียอดผู้ใช้ 36 ประเทศทั่วโลก แต่บริษัทยังมีขนาดเล็กมากๆ อยู่ มีพนักงานทั้งหมดแค่ 800 คนเท่านั้น โดยทางแบรนด์ได้ปล่อย OnePlus 2 ในปี 2015 ตามด้วย OnePlus 3 ในปี 2016 เปิดตัวปีละรุ่น ปีละรุ่น ไม่มีความซับซ้อน คนซื้อก็จำได้ง่ายมากว่าใช้รุ่นอะไรอยู่

คติประจำใจของแบรนด์ ที่ใช้เป็นหลักในการโฆษณาคือ Never Settle หรือไม่หยุดพัฒนา นั่นเพราะพื้นฐานของ OnePlus คือบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งบริษัทลักษณะนี้จะอยู่รอดได้ คุณต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ ถ้ารุ่นล่าสุดทำดีแล้ว รุ่นต่อไปก็ยิ่งต้องดีมากขึ้นไปกว่านั้นอีก เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้น

ในยุค 3 ปีแรก คอนเซ็ปต์ที่คนจะคิดถึง OnePlus คือคำว่า Flagship Killer (นักฆ่าเรือธง) โดยคำว่าเรือธงในภาษาของวงการมือถือ คือสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปที่สุดที่เป็นเหมือนเสาหลักของแบรนด์ ซึ่งเป้าหมายของ OnePlus ในแต่ละปี คือพัฒนามือถือคุณภาพใกล้เคียงกับเรือธงเหล่านั้นในราคาที่ถูกกว่ากันอย่างชัดเจน

เคล็ดลับที่ทำให้ OnePlus ขายดีในช่วง 3 ปีแรก คือโมเดลธุรกิจที่แปลกกว่าบริษัทอื่นๆ กล่าวคือแบรนด์มือถือทั่วไป จะต้องมีหน้าร้าน เพื่อวางขายของ มีพนักงานคอยอธิบาย แต่ OnePlus เข้าสู่ระบบอีคอมเมิร์ซเต็มตัว นั่นคือผู้ซื้อสามารถสั่งออนไลน์โดยตรงกับทางบริษัท และบริษัทก็จะส่งสินค้าให้โดยตรง

“มันขายดีนะ แต่มันยังดีได้มากกว่านั้น” คาร์ล เป่ย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเผย “ปัญหาคือผู้ใช้หลายๆ คน เวลาซื้อโทรศัพท์ พวกเขาจะผูกสัญญากับค่ายมือถือเพื่อให้ได้ราคาส่วนลดของตัวเครื่อง ดังนั้นในปี 2017 เราจึงคิดว่า การขายออนไลน์ ไม่ควรเป็นช่องทางเดียวที่จะขายสมาร์ทโฟนของเรา เราเลยตัดสินใจไปร่วมงานกับเครือข่าย T-Mobile ซึ่งก็ช่วยกระจายสินค้าของเราให้ขายดีขึ้นทั้งในยุโรป และอเมริกา”

OnePlus ข้ามเลข 4 มาเลย แล้วเปิดตัวรุ่นต่อไปคือ OnePlus 5 ในปี 2017 และ OnePlus 6 ในปี 2018 ซึ่งด้วยคุณภาพที่อัดแน่นมาเต็มเครื่อง ในคราวนี้ทำให้สถานะของ OnePlus เปลี่ยนไป จากเดิมพวกเขาคือ “นักฆ่าเรือธง” เป็นโทรศัพท์สายอินดี้ ที่มีคนใช้เฉพาะกลุ่ม ตอนนี้พวกเขากลายมาเป็น “เรือธง” ด้วยตัวเองแล้ว เพราะเมื่อแบรนด์สินค้าได้รับการยกย่องว่าเป็นของดี คนก็ซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็ไม่ใช่ค่ายมือถืออินดี้อีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญในตลาดสมาร์ทโฟน ณ เวลานี้

สำหรับความท้าทายของ OnePlus ในปี 2020 มีหลายประการ ข้อแรกคือ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คาร์ล เป่ย วัย 31 ปี ประกาศลาออก หลังจากช่วยปลุกปั้นองค์กรมาอย่างยาวนานถึง 7 ปีเต็ม ความสำเร็จหลายสิ่งหลายอย่าง เขาเป็นผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด โดยคาร์ล เป่ย จะย้ายไปก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ “ความคาดหวัง” จากผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือในอดีต พวกเขาคือค่ายมือถือสตาร์ทอัพ การมีคุณภาพโอเคในระดับหนึ่ง ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว แต่ในปัจจุบัน แบรนด์มือถือของพวกเขาโด่งดังมากขึ้น จนแค่ “โอเคระดับหนึ่ง” ไม่เพียงพอแล้ว แต่ผู้ใช้ต้องการ “คุณภาพสูงสุด” จากผู้ผลิต ในทุกๆ รุ่นต่อจากนี้ไป

อีกหนึ่งประเด็นคือในปี 2020 OnePlus จะเดินหน้าตีตลาดทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทยด้วย โดยแบรนด์ OnePlus ได้ลงตลาดอย่างจริงจังในช่วงกลางปีนี้ โดยนำมือถือรุ่นดังอย่าง OnePlus 6 เข้ามาขาย ตามด้วย OnePlus Nord และในปีนี้ สมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดจากการโหวตของหลายสำนัก นั่นคือ OnePlus 8 PRO ตามด้วย OnePlus 8T 5G จะถูกนำเข้ามาวางขายอย่างเป็นทางการในไทย

สำหรับโทรศัพท์ที่เริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ตอัพ พวกเขาใช้เวลาเร็วมาก แค่ 7 ปีเท่านั้น ในการยกระดับแบรนด์มือถือของตัวเองที่ไม่มีใครรู้จัก ให้กลายมาอยู่แถวหน้าของวงการสมาร์ทโฟน และคว้ารางวัลมือถือยอดเยี่ยมจากหลายสำนัก ดังนั้น น่าติดตามต่อไปว่า OnePlus จากที่เป็นผู้ไล่ เมื่อต้องเปลี่ยนสถานะเป็น “ผู้ถูกไล่” พวกเขาจะยังคงรักษาสัญญาตาม Motto ของตัวเอง ที่บอกว่า Never Settle หรือ “เราจะไม่มีวันหยุดพัฒนา” ได้จริงหรือไม่

Write a Comment