สรุปที่มาที่ไป ทำไม Huawei ถูกแบน
Google เพิ่งประกาศยุติการสนับสนุนโทรศัพท์ของ Huawei ในวันนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้โทรศัพท์ Huawei ไม่สามารถอัพเดท Android เวอร์ชั่นต่อไปได้ รวมถึงในอนาคตอาจจะไม่สามารถใช้แอปฯ ต่างๆ ของ Google ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Google Maps, Gmail และแอปฯ อื่นๆ ในเครือกูเกิลทั้งหมดบนโทรศัพท์ Huawei
อย่างไรก็ตาม สาเหตุเบื้องต้นจริงๆ ที่ทำให้มือถือของ Huawei ถูกแบนในวันนี้ ไม่ได้มาจากตัวโทรศัพท์ Huawei เอง แต่เป็นเพราะเทคโนโลยี 5G อันสุดล้ำของ Huawei และการที่ชาติตะวันตกมองว่า Huawei ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนมากเกินไปต่างหาก
1. ต้องเล่าก่อนว่าปัจจุบัน Huawei ถือเป็นบริษัทอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก โดยหนึ่งในเทคโนโลยีของ Huawei ที่เป็นที่ต้องการที่สุด คืออุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G (เช่น อุปกรณ์รับส่งสัญญาณบนเสาสัญญาณขนาดใหญ่ เป็นต้น)
2. อุปกรณ์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ของ Huawei ถือว่าดีที่สุดในโลก มีประสิทธิภาพสูงสุดในแง่ความเร็ว และที่สำคัญคือมีราคาถูกกว่าเจ้าอื่น ไม่ว่าจะเทียบกับ Ericsson, Nokia, หรือเจ้าอื่นๆ
3. ส่งผลให้ปัจจุบัน ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนเมษายน ปีนี้ Huawei มีสัญญาในการเข้าไปวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G ทั่วโลกมากถึง 40 สัญญา
4. แต่แม้ของจะดีและถูก แต่ก็มีหลายประเทศที่ไม่ซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวจาก Huawei เนื่องจากกังวลในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล โดยกังวลว่าผลิตภัณฑ์ของ Huawei อาจถูกติดอุปกรณ์ลับบางอย่างที่ทำให้ข้อมูลถูกแอบดักฟังได้ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับ Huawei เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการพบหลักฐานในเรื่องนี้
5. แต่ก็ใช่ว่าความกังวลของประเทศต่างๆ จะหมดไป เพราะในปี 2017 ทางรัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง บังคับให้บริษัทจีนต้องส่งมอบข้อมูลทุกอย่างให้ทางรัฐบาลจีน หากรัฐบาลจีนร้องขอ มิหนำซ้ำตัวนายเหริ้น เจิ้งเฟย CEO ของ Huawei เอง ก็ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน เพราะเป็นทั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในวัยหนุ่มก็เคยทำงานพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับกองทัพของจีนด้วย
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงกังวลว่าถ้าใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจาก Huawei ข้อมูลที่มีการสื่อสารผ่านระบบของ Huawei อาจรั่วไหลไปอยู่ในมือรัฐบาลจีนได้ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง
6. ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้หลายประเทศแบนอุปกรณ์ 5G ของ Huawei เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งแบน Huawei และบริษัทจีนอีกหลายแห่งไม่ให้ขายอุปกรณ์ให้บริษัทสัญชาติออสเตรเลียจากเหตุผลด้านความมั่นคง ญี่ปุ่นห้ามการใช้อุปกรณ์ของ Huawei ในเทคโนโลยี 5G ด้วยความกังวลด้านความปลอดภัย หรือเนเธอร์แลนด์ ที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะไม่อนุญาตให้ Huawei เข้ามาวางโครงสร้างพื้นฐานหลัก 5G ของประเทศ
7. และสหรัฐอเมริกา ก็เป็นประเทศล่าสุดที่แบน Huawei ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงนี้เช่นกัน โดยเมื่อวันพุธที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) โดยรายละเอียดเป็นการห้ามไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ติดตั้งอุปกรณ์ที่ผลิตโดยต่างชาติ ที่อาจทำให้ความมั่นคงของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง
ในประเด็นนี้ ขอให้สังเกตดีๆ ว่า นี่ยังไม่ใช่คำสั่งที่มีผลให้ Google แบนโทรศัพท์มือถือของ Huawei ในวันนี้ เพราะคำสั่งนี้เพียงแต่มีผลให้บริษัทมือถือทั้งหลาย เช่น AT&T หรือ Verizon สมมติถ้าจะติดตั้งเสาสัญญาณ 5G หรือพัฒนาโครงข่าย 4G ที่มีอยู่ให้เป็น 5G ก็ห้ามใช้อุปกรณ์จากบริษัทจากจีน เช่น Huawei ดังนั้นคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์อันนี้จึงเป็นเรื่องของการ “ห้ามนำเข้า” อุปกรณ์จากจีน
8. ส่วนคำสั่งที่ส่งผลให้โทรศัพท์มือถือของหัวเหว่ยถูกแบน คือคำสั่งอีกอันหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ (Commerce Department) ของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาในวันเดียวกัน (พุธที่ 15 พ.ค.) ซึ่งได้ประกาศรายชื่อของบริษัท Huawei และบริษัทลูกของ Huawei อีกหลายสิบบริษัท ว่าเป็นบริษัทที่อยู่ใน “Entity list” โดยบริษัทที่อยู่ในลิสต์ดังกล่าวนี้ หากอยากซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากบริษัทในสหรัฐฯ จะต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อน แม้นี่จะไม่ได้เป็นการแบนโดยตรง แต่ก็ถือเป็นการแบน เพราะทุกอย่างต้องไปผ่านรัฐบาลสหรัฐฯ
ขอให้สังเกตว่า คำสั่งนี้ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เป็นเรื่องของการ “ห้ามส่งออก” ผลิตภัณฑ์จากบริษัทสหรัฐฯ ไปยังบริษัทจีน
ทั้งนี้คำสั่งแบนของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ อันนี้ ก็อ้างเรื่องความมั่นคงเช่นกัน โดยวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ บอกว่า “นี่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ถูกใช้โดยองค์กรต่างชาติ ในทางที่อาจบั่นทอนความมั่นคงของสหรัฐฯ”
9. จากคำสั่งดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ Google จึงต้องปฏิบัติตาม โดยการยุติการสนับสนุนซอฟต์แวร์บางส่วนแก่โทรศัพท์ Huawei และนอกจาก Google แล้ว ก็ยังอาจมีบริษัทอื่นๆ ต้องหยุดการส่งผลิตภัณฑ์ให้ Huawei ชั่วคราวด้วย เช่น Microsoft ที่อาจต้องยุติการสนับสนุนระบบปฏิบัติการ Windows บนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ชื่อ Matebook ของ Huawei รวมถึงบริษัท Intel ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ก็อาจต้องยุติการส่งชิปสำหรับการผลิต Matebook แก่ Huawei ด้วย
10. แต่ก็ใช่ว่า Huawei จะไม่ได้มีการเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Huawei ได้ซื้อตุนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าของตัวเองไว้แล้ว โดยมีข่าวว่าตุนไว้พอสำหรับใช้ได้ยาวนาน 1 ปี
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาหัวเหว่ยก็ได้มีการพัฒนาโปรเซสเซอร์ของตัวเองมาตลอด เห็นได้จากในโทรศัพท์มือถือ Huawei ที่ใช้ชิปของ HiSilicon ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Huawei เอง รวมถึงได้มีการให้สัมภาษณ์จากผู้บริหารระดับสูงของ Huawei ว่าได้มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการ (OS) ของตัวเองขึ้นมาเป็นแผนสำรองในกรณีที่เกิดเหตุเช่นนี้แล้ว
“เราได้สร้างระบบปฏิบัติการของเราเองขึ้นมา เผื่อในกรณีว่าเราไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการของเจ้าอื่นได้” นาย Richard Yu หัวหน้าฝ่ายผู้บริโภคของ Huawei ระบุ
และล่าสุดเพิ่งมีรายงานข่าวระบุว่า ระบบปฏิบัติการของหัวเหว่ยดังกล่าวมีชื่อว่า “Hongmeng” ซึ่งได้ซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012
Write a Comment